เทคนิคการล้างความทุกข์ใจอย่างยั่งยืน

เทคนิคการล้างความทุกข์ใจอย่างยั่งยืน
คำตรัสของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ ข้อ ๒๖๐      “... ดูกรวัจฉะ     ธรรมทั้งสอง คือสมถะและวิปัสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดธาตุหลายประการ. 
แสดงว่า การฝึกสมถะและวิปัสสนาจะทำให้รู้ความจริงตามความเป็นจริง
สมถะ เป็นอุบายทางใจ เป็นวิธีฝึกอบรมจิตให้สงบ  (พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต), ๒๕๓๑)
            สมถะเป็นการอดทนฝืนข่มที่จะไม่ทำตามกิเลสตัณหา/สิ่งที่เป็นภัยนั้นๆ, การหลบเลี่ยงพรากห่าง เมื่อรู้สึกว่า มีความเครียดมากเกินไป ทนฝืนได้ยากทนฝืนได้ลำบาก ถ้าอยู่ในจุดที่มีกิเลสนั้นๆ,   การใช้กสิณฝึกจิตให้สงบด้วยการเอาจิตไปกำหนดไว้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจุดใดจุดหนึ่ง, และการใช้ปัญญาสมถะ เช่น มัน/เขาก็เป็นธรรมดาของมัน/เขาอย่างนั้นแหละ ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ปล่อยๆ วางๆ ลืมๆ ทิ้งๆ เสียบ้าง เป็นต้น สมถะไม่ใช่ตัวล้างพลังงานทุกข์ แต่เป็นตัวที่เสริมพลังของวิปัสสนาให้มีประสิทธิภาพในการล้างสลายพลังงานที่เป็นทุกข์ให้ดียิ่งขึ้น
            วิปัสสนา เป็นอุบายทางปัญญาเพื่อให้จิตสงบ อุบายทางปัญญาให้เกิดความรู้ เข้าใจตามความเป็นจริง (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), ๒๕๓๑)
        ดังนั้น วิปัสสนาจึงเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ สอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี                          (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๒๙)
ไม่พึงละเลยการใช้ปัญญา                                   (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๖๘๓)
-   คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา                                 (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑๑)
-   ปัญญา เป็นแสงสว่างในโลก                              (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๖๑)
-   ปัญญา เป็นดวงแก้วของคน                               (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๕๙)
-   คนมีปัญญา แม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ               (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๔๔๔)
คนฉลาดกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐสูงสุด       (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๔๖๘)
            จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับปัญญาว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผาสุก บริสุทธิ์จากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเป็นความประเสริฐในชีวิต
            ดังนั้น การใช้ปัญญาที่ถูกต้อง อันเป็นวิปัสสนาแท้ สามารถทำให้ดับทุกข์ได้อย่างยั่งยืน    
            พระไตรปิฎกเล่ม ๑๗ อนุธัมมสูตรที่ ๒ ข้อ ๘๔ ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอนิจจัง...ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์.     ข้อ ๘๕ ว่าด้วยการพิจารณาเห็นทุกข์...ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์. ข้อ ๘๖ การพิจารณาเห็นอนัตตา...ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์. (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ ข้อ ๘๔-๘๖)
จะเห็นได้ว่า เทคนิคที่สำคัญในการสลายล้างพลังงานยึดมั่นถือมั่นปักมั่นในสิ่งนั้นๆ เพื่อดับต้นเหตุของทุกข์ ดับอารมณ์ที่ทำลายสุขภาพ/อารมณ์ที่เป็นพิษ ได้แก่ วิปัสสนา คือ การหมั่นพิจารณาไตร่ตรองทุกข์โทษภัยผลเสียของการเสพ/การติด/การยึดมั่นถือมั่นปักมั่น/การเอา สิ่งนั้นๆ (เพื่อทำลายล้างพลังงานหลงสุขของโลกีย์ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในจิต ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม และดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑ ว่า...ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ (โลกุตระสุข เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ยั่งยืนและประเสริฐสูงสุด) เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ (โลกียะสุข เป็นความสุขที่น้อย/สุขชั่วคราว/สุขระยะเวลาสั้นๆ/สุขไม่ยั่งยืน และมีทุกข์เจือมาก) เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ (โลกุตระสุข) พึงสละความสุขพอประมาณเสีย (โลกียะสุข) ผู้ใดปรารถนาความสุขเพื่อตนด้วยการเข้าไปตั้งความทุกข์ไว้ในผู้อื่น ผู้นั้นระคนแล้วด้วยความเกี่ยวข้องด้วยเวร ย่อมไม่พ้นไปจากเวร...) ร่วมกับการพิจารณาไตร่ตรองความไม่เที่ยง     ไม่มีตัวตนแท้ของสิ่งนั้นๆ และทุกสิ่งทุกอย่างในโลก รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งใดๆ นั้นๆ ก็ไม่เที่ยงไม่มีตัวตนแท้ (การพิจารณาความไม่เที่ยงเพื่อทำลายพลังงานหลงยึดมั่นถือมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงแท้ ส่วนการพิจารณาความไม่มีตัวตนก็เพื่อทำลายความหลงยึดมั่นถือมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีตัวตนแท้)
            พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักกาลามสูตร “...เมื่อใดพึงรู้ด้วยตนเอง ว่าธรรมเหล่าใดนั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือเข้าถึงธรรมตามนั้น” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕), บัณฑิตย่อมเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ ข้อ ๔๒) 
            จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพบว่าการจะดับทุกข์ได้ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาความจริงว่า     สิ่งใดเป็นอกุศลหรือมีโทษ ก็ให้ละเลิกเสีย ส่วนในสิ่งที่เป็นกุศล ไม่มีโทษหรือมีประโยชน์       ก็ให้เข้าถึง ซึ่งก็คือเลือกเอา เลือกทำ เลือกเป็นในสิ่งนั้น
        ดังนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาที่ถูกต้อง อีกข้อก็คือ หมั่นไตร่ตรองผลดีหรือประโยชน์ของการไม่เสพ/ไม่ติด/ไม่ยึดมั่นถือมั่น/ไม่ปักมั่น/ไม่เอา/ให้/ปล่อย/วาง สิ่งนั้นๆ ให้เป็นของโลก ให้หมุนวนเกิดดับๆอยู่ในโลก หรือหมั่นไตร่ตรองผลดีหรือประโยชน์ของการได้/เป็น/มี ในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่เป็นภัยนั้น เพื่อให้เห็นข้อดี/ประโยชน์ และเข้าถึงสภาพธรรมที่ประโยชน์แท้ด้วยความสุขใจ
            พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ฐานสูตร [๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้       อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์  หรือ บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑ เรามีความ เจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง   จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑ ฯ
            พระไตรปิฎก เล่ม ๓๗ ข้อ [๑,๖๙๘]  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรมอันเป็นไปด้วยความจงใจ ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรมนั้นแล จะให้ผลในภพนี้ หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป
            พระไตรปิฏกเล่ม ๓๐ ข้อ [๒๑๙] กรรมชั่วอันบุคคลทำด้วยตนเองแล้ว จักเศร้าหมองด้วยตนเอง กรรมชั่วอันบุคคลไม่ทำด้วยตนเองแล้ว ย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่สุทธิ์ เฉพาะตน ผู้อื่นจะช่วยชำระผู้อื่นให้บริสุทธิ์หาได้ไม่
            ดังนั้นวิปัสสนาอีกข้อหนึ่ง ก็คือ การไตร่ตรองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราหรือใครๆ รับอยู่เป็นอยู่ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ล้วนเกิดจากสิ่งที่เราหรือใครๆ ทำมาทั้งชาตินี้และชาติก่อน ทำดีก็ให้ผลดี ทำไม่ดีก็ให้ผลไม่ดี เมื่อให้ผลของการกระทำแล้วก็จบดับไป เพื่อให้รู้เหตุและผล อันเป็นที่ไปที่มาของทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เกิดสภาพอยู่กับความจริง รู้จักความจริง ยอมรับความจริง ซึ่งจะส่งผลให้ใจไม่ทุกข์
            เนื่องจากกิเลสนั้นสั่งสมในจิตวิญญาณมากและยาวนาน ยากต่อการละล้าง ผู้เขียนพบว่า การจะประสบความสำเร็จในการละล้างกิเลสนั้น ต้องวิปัสสนา(พิจารณาไตร่ตรองตามสาระดังกล่าว) ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง (ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร) ในขณะที่มีอารมณ์ทุกข์หรืออารมณ์ที่เป็นพิษนั้น จนพลังงานหรืออารมณ์ที่ทุกข์นั้นลดน้อยลงหรือหายไป แล้วเกิดสภาพรู้สึกสุขสงบปลอดภัยไร้ทุกข์ใจขึ้นมาแทน ถ้ามีอารมณ์ทุกข์ดังกล่าวอีก เราก็วิปัสสนาอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าอารมณ์ที่เป็นทุกข์นั้น จะถูกสลายจนหมดไปจากชีวิตเรา
ความรู้สึกสุขใจที่ได้จากการวิปัสสนาที่ถูกต้องแท้จนมีผลทำให้กิเลสลดหรือดับไปนั้น เป็นความรู้สึกสุขใจที่สุขยิ่งกว่าการได้เสพสมใจ เป็นฌาน ๔(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ ข้อ ๓๒) เป็นโลกุตระสุข ที่สุขยิ่งกว่าโลกียะสุข
ฌาน ๔ (ฌาน แปลว่า การเพ่งเผากิเลส) ได้แก่ ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑ วิตกวิจาร) คือ อยู่ในระหว่างเคร่งคลุมพยายามไม่เสพสิ่งนั้นโดยใช้ปัญญาวิตกว่า ถ้าเสพสิ่งนั้นต้องเป็นทุกข์ต้องเดือดร้อนแน่ ประกอบกับใช้ปัญญาวิจารณ์ว่าถ้าเสพสิ่งนั้นจะเป็นทุกข์ จะเดือดร้อนอย่างไรบ้าง โดยพิจารณาตามปัญญาที่มี และพิจารณาซ้ำๆ เข้าไปเรื่อยๆ จนปัญญานั้นมีฤทธิ์ฆ่ากิเลสได้  เกิดผลกิเลสลดลงหรือดับไป ก็ จะเกิดทุติยฌาน(ฌานที่ ๒ ปีติ) คือ เป็นสภาพจิตที่รู้สึกสุขซาบซ่านไปทั่วตัว บางท่านจะรู้สึกสุขแรง ส่วนบางท่านจะรู้สึกสุขไม่แรง คล้ายๆ กับเมื่อความทุกข์จากการปวดศีรษะลดลงหรือดับไป ในช่วงแรกเราจะดีใจสุขใจฟูใจแรงๆ จากนั้นก็จะเป็นตติยฌาน(ฌานที่ ๓ สุข) คือ ความรู้สึกสุขที่ซาบซ่านไปทั่วตัวนั้นจะนิ่งสงบลง ในสภาพรู้สึกสุขกรึ่มๆ คล้ายๆกับสภาพที่เมื่อเราไม่ปวดศีรษะนานเข้า เราก็ยังรู้สึกสุขอยู่ แต่ความรู้สึกดีใจสุขใจฟูใจนั้นจะเริ่มนิ่งสงบลง เป็นสภาพอารมณ์ดีใจฟูๆ ให้เราได้รับรู้อยู่บ้าง แต่ไม่แรงเหมือนตอนแรกๆที่เราสามารถทำความทุกข์จากการปวดศีรษะให้ลดลงหรือดับไป และต่อไปเป็นจตุตถฌาน(ฌานที่ ๔ อุเบกขา)  คือ สภาพที่รู้สึกสุขกรึ่มๆ แปรสภาพเป็นความรู้สึกสุขที่นิ่งลง เป็นสภาพสุขสบายใจเบิกบานแจ่มใสที่ไม่ต้องมีภัยนั้นๆ ในชีวิตตน เข้าถึงประโยชน์แท้ของชีวิตอย่างสุขสบายใจ คล้ายๆ กับความรู้สึกสุขสบายใจเบิกบานแจ่มใสที่ความทุกข์จากการปวดศีรษะลดลงหรือดับไปนานแล้ว โดยไม่มีความรู้สึกกรึ่มๆใจหรือฟูใจ
            บางท่านจะรับรู้ความก้าวหน้าของฌานที่ ๑ - ฌานที่ ๔ เป็นลำดับอย่างช้าๆ ส่วนบางท่านฌานที่ ๑ - ฌานที่ ๔ จะเกิดอย่างรวดเร็วจนจับอาการของอารมณ์ความรู้สึกในจิต ที่เป็น ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๓ แทบไม่ทัน แต่จะเข้าถึง ฌานที่ ๔ อย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะเมื่อวิปัสสนาล้างกิเลสในเรื่องนั้นๆ เก่งยิ่งขึ้นๆ
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภพ  ๓  นี้ควรละ ควรศึกษาในไตรสิกขา  ภพ ๓ เป็นไฉน คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ   ภพ ๓ นี้ควรละ ไตรสิกขาเป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา  ควรศึกษาในไตรสิกขานี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล ภพ ๓ นี้ เป็นสภาพอันภิกษุละได้แล้ว และเธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้นภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์ เพราะละมานะได้โดยชอบ ฯ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ภวสูตร” ข้อ ๓๗๖)
            แสดงว่า ไตรสิกขา ได้แก่ อธิศีล อธิจิต (สัมมาสมาธิ)  อธิปัญญา เป็นการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
            อธิศีล คือ การละเว้น (เวรมณี) บาป เวร ภัย สิ่งที่ไม่ดี ความเดือดร้อน การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (ในศีลแต่ละข้อพระพุทธเจ้าจะระบุสิ่งที่ไม่ดี/เป็นภัยต่างๆ แล้วตามด้วยเวรมณี แปลว่า การละเว้น ซึ่งการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย จะเป็นสภาพเดียวกันกับการเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยความสุขใจ) ในเบื้องต้นเป็นมรรค คือการพยายามปฏิบัติละเว้นสิ่งที่เป็นภัย และพยายามเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อความสุขใจอย่างยั่งยืน เมื่อปฏิบัติจนสำเร็จ (บรรลุ) เป็นผล คือ พ้นภัย และเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยความสุขใจอย่างยั่งยืน
            อธิจิต (สัมมาสมาธิ) ที่เป็นมรรค คือ ความตั้งมั่นในการปฏิบัติละเว้นสิ่งที่เป็นภัย และตั้งมั่นในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อความสุขใจที่ยั่งยืน เมื่อปฏิบัติจนสำเร็จ(บรรลุ)เป็นผล คือ สงบจากภัยอย่างตั้งมั่นด้วยความสุขใจอย่างยั่งยืน และเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างตั้งมั่นด้วยความสุขใจอย่างยั่งยืน
            อธิปัญญา ที่เป็นมรรค คือ ใช้ปัญญากำหนดรู้ว่าอะไรเป็นกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ภัย และการพากเพียรปฏิบัติใช้ปัญญาล้างกิเลสเหตุแห่งทุกข์ภัยนั้น ใช้ปัญญาเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อความสุขใจที่ยั่งยืน เมื่อปฏิบัติจนสำเร็จ(บรรลุ)เป็นผล คือ ทุกข์ในใจลดหรือดับไปและมีปัญญารู้สภาพทุกข์ที่อยู่ในใจอันเกิดจากกิเลสนั้นดับไปด้วยการวิปัสสนา ว่าเป็นประโยชน์สุขสงบปลอดภัยอย่างดีที่สุดประเสริฐที่สุด  และมีปัญญารู้การเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างตั้งมั่นด้วยความสุขใจอย่างยั่งยืน ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด
            การวิปัสสนาเพื่อดับทุกข์ ก็ต้องกระทำอย่างรู้เพียรรู้พัก ไม่หย่อนเกินและไม่ตึงเกิน เช่น ในขณะที่เรากำลังใช้ปัญญาวิปัสสนาล้างความเสพ/ติด/ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นภัยต่อชีวิตเรา โดยกระทำร่วมกับสมถะ คือ การอดฝืนทน/พรากห่าง เป็นการพากเพียรออกจากกามสุขลิกะ(จิตหลงติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย) เคลื่อนจากความหย่อนเข้ามาหากลางในสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้ต่อร่างกายและจิตใจของเราที่จะเป็นไปได้มากที่สุด ณ เวลานั้น เมื่อลดละเลิกไปได้สักพักหนึ่งจิตเราจะหมดกำลังล้างทุกข์ กิเลสที่เหลือจะส่งกำลังของกิเลสมาเรื่อยๆ ทำให้เราอยากเสพ/ติด/ยึดมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนทนได้ยากได้ลำบาก/ตึงเครียดเกิน/ยึดมั่นถือมั่นในดีเกิน/หลงดีเกิน(อัตตกิลมถะ) ถ้าเราฝืนทนในสภาพนี้นานเกินไป ก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ เพราะพิษที่เกิดจากความเครียดที่มากเกิน จะเป็นพิษมากกว่าสิ่งเป็นพิษที่เราต้องการเสพ ก็ให้เราปล่อยวางหรือผ่อนคลายความลำบากเกิน/ตึงเครียดเกิน/ยึดมั่นถือมั่นในดีเกิน/หลงดีเกิน ด้วยการไปเสพในสิ่งที่เราต้องการเสพ เป็นการปฏิบัติเข้าหากลางที่เป็นประโยชน์แท้ต่อร่างกายและจิตใจของเราที่จะเป็นไปได้มากที่สุด ณ เวลานั้น โดยกระทำด้วยวิปัสสนา (พิจารณาผลเสียของการไม่ปล่อยวาง พิจารณาผลดีของการปล่อยวาง) เป็นสภาพการรู้พัก เมื่อจิตตั้งหลักได้คลายเครียดพอสมควรก็เพียรล้างกามสุขลิกะอีกครั้ง เมื่อตึงเครียดเกินก็วางอัตตกิลมถะ(การหลงยึดดี)เป็นการรู้พัก ทำสลับไปมาเรื่อยๆ เป็นการล้างกาม  ล้างอัตตา สุดท้ายก็จะหมดทั้งกามทั้งอัตตา ได้สภาพเป็นกลาง/พ้นทุกข์
            หมดกาม คือ หมดความใคร่อยาก หมดรสโลกียสุขในสิ่งที่เป็นภัยนั้น หมดอัตตา คือ หมดความยึดดี ที่ยึดว่าจะไม่สัมผัสสิ่งที่เป็นภัยนั้น หมายความว่า ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสหรืออาศัยสิ่งที่เป็นภัยนั้น ก็สัมผัสหรืออาศัยได้ โดยไม่ได้มีความรู้สึกสุขแบบโลกีย์ เช่น เราไม่มีรสโลกียสุขในอาหารรสจัดที่เป็นพิษแล้ว เรียกว่าหมดกาม แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องกินอาหารรสจัดนั้น อาจเนื่องจากช่วงนั้นหาอาหารรสจืดที่ดีต่อสุขภาพไม่ได้ หรือช่วงนั้นเราจะกินอาหารรสจัดบ้าง เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย โดยให้ร่างกายได้ฝึกอดทนต่อพิษ ได้ฝึกขับพิษ เราก็สามารถกินอาหารรสจัดนั้นได้ ด้วยความสบายใจ โดยเราไม่ได้มีรสโลกียสุขในอาหารรสจัด เรียกว่า หมดอัตตา ซึ่งการหมดอัตตานั้น เมื่อเราไม่ติดในสิ่งนั้นแล้ว  ไม่มีรสโลกียสุขในสิ่งนั้นแล้ว เราสามารถสัมผัสสิ่งที่เป็นภัยบางอย่างนั้นได้เป็นบางครั้งบางคราวเมื่อเหตุปัจจัยเหมาะควรที่จะให้เราหรือให้โลกได้ประโยชน์บางอย่าง ถ้าสิ่งนั้นไม่เลวร้าย/ไม่ชั่วร้าย/ไม่เป็นภัยมากจนเกินไป ไม่ผิดศีลธรรมรุนแรงจนเกินไป   
สภาพเป็นกลาง คือ สภาพไม่ดูดไม่ผลัก/ไม่ชอบไม่ชัง การทำให้เกิดสภาพเป็นกลางเมื่อจิตมีความรู้สึกดูด/ชอบในสิ่งที่เป็นโทษ หรือเราอยากได้มากเกินความพอดี/อยากได้มากกว่าความจริงที่เป็นไปได้จริงในสิ่งที่ไม่ได้เป็นภัยแต่เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ ซึ่งการอยากได้มากเกินความพอดี/อยากได้มากกว่าความจริงที่เป็นไปได้จริง ก็จะทำให้เป็นภัยต่อชีวิตเราหรือผู้อื่น มีเทคนิค คือ พิจารณาโทษหรือผลเสียของการเสพ/ได้/เป็น/มี/เอา ในสิ่งนั้น เมื่อจิตเรามีพลังดูดในสิ่งนั้นแล้วเราพิจารณาผลเสียหรือโทษ(เกิดพลังผลัก) พลังดูดและผลักในจิตที่สมดุลกันจะสังเคราะห์กันเป็นกลาง จิตเราจะรู้สึกโปร่งโล่งสบายและมีพลังสุขสงบ (พลังสุขสงบนี้เราสามารถเอาไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์/สิ่งที่ดีงามต่างๆได้) และเราก็จะไม่เสพไม่เอาในสิ่งที่เป็นภัยนั้น
เช่น ถ้าเราอยากกินอาหารรสจัดมากๆ ซึ่งมีพิษต่อสุขภาพ เราก็พิจารณาโทษ/ผลเสียของอาหารรสจัดให้มากๆ พร้อมกับอดทนไม่กินอาหารรสจัด เมื่อปฏิบัติแบบนี้ให้มากๆ ก็จะมีฤทธิ์ล้างความดูดความชอบในอาหารรสจัด และเราก็จะไม่กินอาหารรสจัด หรือเรามีอารมณ์ชอบ/อยากคดโกง เราก็พิจารณาโทษ/ผลเสียของการคดโกงให้มากๆ พร้อมกับข่มใจ     ฝืนทนไม่ทำพฤติกรรมคดโกง เมื่อปฏิบัติแบบนี้ให้มากๆ ก็จะมีฤทธิ์ล้างความดูดความชอบในการคดโกง และเราก็จะไม่คดโกง เมื่อเราออกจากการดูด/ชอบได้แล้ว เราก็จะมีอารมณ์ความรู้สึกผลักชังในสิ่งนั้น เป็นสภาพจิตที่ยังไม่เป็นกลางซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์ใจอยู่ ก็ให้เราล้างความรู้สึกผลัก/ชังนั้นเสีย จะได้เป็นกลาง
การทำให้เกิดสภาพเป็นกลางเมื่อจิตมีความรู้สึกผลัก/ชัง มีเทคนิค คือ การพิจารณาประโยชน์หรือผลดีของการได้/เป็น/มี/เกิด/เอา ในสิ่งนั้น เมื่อจิตเรามีพลังผลักในสิ่งนั้นแล้วเราพิจารณาประโยชน์หรือผลดี(เกิดพลังดูด) พลังผลักและดูดในจิตที่สมดุลกันจะสังเคราะห์กันเป็นกลาง ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และเราได้พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่ไม่ดีนั้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ในขณะนั้นเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขให้ได้มากกว่านั้นแล้วและเราก็จะยอมให้เป็นให้เกิดสิ่งนั้นได้ ด้วยจิตที่รู้สึกโปร่งโล่งสบายและมีพลังสุขสงบ (พลังสุขสงบนี้เราสามารถเอาไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์/สิ่งที่ดีงามต่างๆได้)
เช่น เมื่อเราไม่ดูดไม่ชอบไม่ติดไม่ทำในการคดโกงได้แล้ว เรามักจะผลัก/ชังในเมื่อพบเห็นการคดโกงของผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อเราได้พยายามหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว ก็แก้ไขไม่ได้ หรือแก้ไขได้น้อย สิ่งไม่ดีนั้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ เราก็พิจารณาประโยชน์/ข้อดีของการมีสิ่งที่ไม่ดีนั้น(สิ่งที่ไม่ดีอื่นๆ ก็ใช้หลักพิจารณาอย่างเดียวกัน) เช่น ถ้าสิ่งที่ไม่ดีนั้นมีผลต่อเราหรือต่อใครๆ ก็ทำให้วิบากบาป/เวรกรรม/สิ่งไม่ดีในชีวิตของเราหรือผู้ที่ได้รับผลไม่ดีนั้นลดน้อยลง เพราะได้ใช้เวรใช้กรรมที่เคยทำมาให้หมดไป วิบากดีของเราหรือของผู้ที่ได้รับสิ่งที่ไม่ดีนั้นก็จะส่งผลดีได้มาก ผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่ดีและคนอื่นๆในโลกก็จะได้เรียนรู้สุขทุกข์ของการทำสิ่งที่ไม่ดีว่าจะมีสุขที่น้อยและมีทุกข์ที่มากอย่างไร ผู้ใดที่เรียนรู้ชัดเจนแล้วก็จะได้ไม่ทำความชั่ว/สิ่งที่ไม่ดีนั้นอีก และโดยสัจจะแล้วก็ไม่มีใครสามารถทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดีให้หมดไปจากโลกได้ แม้สิ่งที่ดีหรือไม่ดีเกิดขึ้นก็ตามสุดท้ายก็จะดับไป ไม่ใช่สมบัติอันยั่งยืนที่แท้จริงของใคร เป็นต้น เมื่อปฏิบัติดังนี้จนพลังผลัก (รังเกียจที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี)และดูด (พิจารณาข้อดีของการมีสิ่งที่ไม่ดีนั้น)ในจิตที่สมดุลกันจะสังเคราะห์กันเป็นกลาง และเราได้พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่ไม่ดีนั้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ในขณะนั้นเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขให้ได้มากกว่านั้นแล้ว เราก็จะยอมให้เป็นให้เกิดสิ่งนั้นได้และรอวันดับไป ด้วยจิตที่เป็นกลางรู้สึกโปร่งโล่งสบายและมีพลังสุขสงบ (พลังสุขสงบนี้เราสามารถเอาไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์/สิ่งที่ดีงามต่างๆได้)
แม้สิ่งที่เราดูด/ชอบ จะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เมื่อเราทำเต็มที่แล้วก็ไม่เกิดดีอย่างที่เรามุ่งหมาย แล้วเกิดอาการทุกข์ใจไม่พอใจไม่ชอบใจ(ผลัก) แสดงว่าเราติด/ดูด/ชอบในดี และติด/ดูด/ชอบอารมณ์ทุกข์(ผลัก)นั้นอยู่ เราก็ต้องพิจารณาโทษ/ผลเสียของการมีอารมณ์ดูดและผลักนั้น ว่าทำให้กายใจเราเป็นทุกข์ พิจารณาว่าเมื่อเราทำเต็มที่แล้วคนในโลกก็ได้ตามบาปบุญของคนในโลก และคนในโลกก็จะได้เรียนรู้ว่าถ้าทำดีน้อยก็จะได้รับผลดีน้อย ไม่ทำดีเลยก็ไม่ได้รับผลดีเลย ทำไม่ดีมากก็จะได้รับผลไม่ดีมาก ทำดีมากก็ได้รับผลดีมาก
ชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ควรทำ ไม่ควรส่งเสริม ไม่ควรอาศัย แต่ก็ไม่ใช่สุขทุกข์ดูดผลักในใจเรา ส่วนดีนั้นเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรส่งเสริม ควรอาศัย แต่ก็ไม่ใช่สุขทุกข์ดูดผลักในใจเรา ไม่ว่าดีชั่วก็เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ดีชั่วก็เป็นกลางๆ ไม่ใช่สุขทุกข์ดูดผลักในใจเรา เราติดดีเราก็เป็นทุกข์ แต่เรารู้ประโยชน์คุณค่าของดีแล้วทำดีอย่างไม่ติดดีเราก็จะมีความสุข เรามีหน้าที่ทำให้เกิดสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบาปบุญของโลกตามบาปบุญของเรา เพื่อให้โลกและเราได้อาศัยก่อนที่มันจะดับไปหรือก่อนที่เราจะดับไปเท่านั้น
            สรุปคือ เราล้างความดูด(ชอบ) ด้วยความผลัก(โทษ) และล้างความผลัก(ไม่ชอบ) ด้วยความดูด(ประโยชน์) จนเกิดสภาพเป็นกลาง ที่สำคัญ คือ ต้องล้างความดูด/ชอบก่อนแล้วค่อยล้างความผลัก/ไม่ชอบ จึงจะเป็นกลางที่เป็นสัจจะอันเป็นความผาสุกที่แท้จริงได้
            การปฏิบัติพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดสุขภาพดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้         ในพระไตรปิฎก อนายุสสสูตร ข้อ ๕ ประพฤติเพียงดังพรหม
            พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑“สิงคีติสูตร” ข้อ ๒๓๔)                                                       
๑.)  เมตตา คือ ปรารถนาให้ผู้อื่นผาสุก/พ้นทุกข์/ได้ประโยชน์/ได้สิ่งที่ดี
๒.) กรุณา คือ ลงมือกระทำตามที่เราปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นๆ ตามเหตุปัจจัยที่ทำได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ใช้หลักทำความผาสุกที่ตน สอนคนที่ศรัธา
            ทำความผาสุกที่ตน/ทำตัวอย่างที่ตน เพราะเรากำหนดเราได้ เราเปลี่ยนแปลงเราได้ แต่เรากำหนดคนอื่น/เปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ สอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่เน้นให้ทำความผาสุกที่ตนเป็นหลัก เช่น ตนแลเป็นที่พึ่งของตน, พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อนแล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง, ให้หมั่นทำนาตัวเองอย่าหมั่นทำนาคนอื่น, จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นต้น
            สอนคนที่ศรัทธา เพราะการสอน/ช่วยคนที่พร้อมเต็มใจศรัทธา จะสบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้รับจะทำใจในใจอย่างแยบคาย ในสิ่งนั้นๆ เป็นผลสืบเนื่องให้พากเพียรปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ และได้สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น 
            ดังพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔  อวิชชาสูตร ข้อ ๖๑ “....การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม) ให้บริบูรณ์สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ (สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา) ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ย่อมยังวิชชาและวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากทุกข์) ให้บริบูรณ์  วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ”
            ส่วนการสอน/ช่วยคนที่ไม่ศรัทธา ไม่พร้อม ไม่เต็มใจ จะทำให้เกิดความไม่สบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้รับจะไม่ทำใจในใจอย่างแยบคาย ในสิ่งนั้นๆ เป็นผลสืบเนื่องให้ไม่พากเพียรปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงไม่ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น
            ดังพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔  อวิชชาสูตร ข้อ ๖๑ “...การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์       ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชา (ความไม่รู้ทางดับทุกข์   จึงทำให้ชีวิตเป็นทุกข์) ให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ”
๓.)  มุทิตา คือ ยินดีที่เขาได้ดีหรือเมื่อเกิดสิ่งดีนั้น หรืออย่างน้อยก็ยินดีที่ดีเกิดในใจเรา เราไม่ได้ดูดาย เพิกเฉย 
๔.) อุเบกขา คือ จิตปล่อยวางความติดยึดในทุกอย่างอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดสภาพสงบสบาย  ไร้กังวล อันเกิดจากเมื่อได้พากเพียรพยายามทำดีเต็มที่แล้ว ไม่ว่าผลดีจะเกิดขึ้นมาก เกิดขึ้นน้อยหรือไม่เกิดขึ้น ก็ปล่อยวางสิ่งนั้นให้โลก ฝึกสลายเงื่อนไขที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ คือการยึดมั่นถือมั่นปักมั่นในจิต เช่น ยึดว่าถ้างาน/เป้าหมายสำเร็จฉันจะเป็นสุขใจ ถ้าไม่สำเร็จฉันจะเป็นทุกข์ใจ   ถ้าคนนั้นคนนี้สังคมนั้นสังคมนี้ดี/เป็น/ได้/สมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ฉันก็จะเป็นสุขใจ แต่ถ้าไม่ดี/ไม่ได้/ไม่เป็น/ไม่สมบูรณ์อย่างนั้นอย่างนี้ฉันก็จะทุกข์ใจ ได้สิ่งนั้นมากฉันก็จะสุขใจ แต่ถ้าได้น้อยหรือไม่ได้ก็จะทุกข์ใจ และอีกสารพัดเรื่องทุกเรื่องทุกประเด็นที่ยึดว่าถ้าเกิด/เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ใจฉันก็จะสุข แต่ถ้าไม่เกิด/ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ใจฉันก็จะทุกข์ล้วนเป็นเหตุให้หลงวนเวียนอยู่ในสุขลวง/สุขน้อย/ทุกข์จริง/ทุกข์มากไม่รู้จบ ไม่รู้แล้ว
            แต่ถ้าเรามีปัญญารู้ว่าสิ่งใดดี แล้วพากเพียรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีนั้น ตามเหตุปัจจัยที่ทำได้  โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ปล่อยวางที่ใจว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอะไรอย่างไรเท่าไหร่แค่ไหนก็ได้ ปล่อยให้เป็นผลตามการสังเคราะห์ของกรรม(การกระทำ)กับบาปบุญของเราและของผู้อื่น ตามองค์ประกอบสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบันนั้นๆ อันเป็นเหตุปัจจัยของโลก พิจารณาผลเสียของการไม่ปล่อยวาง พิจารณาผลดีของการปล่อยวาง  “มุ่งหมายที่จะให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด แล้วทำให้ดีที่สุด โดยไม่ติดสิ่งที่ดีที่สุด คือสิ่งที่ดีที่สุด”
            พร้อมทั้งเป็นผู้ไม่ติดไม่หลงยึดมั่นถือมั่นปักมั่นในการกระทำและผลของการกระทำ ว่าเป็นตัวเราของเราอย่างยั่งยืนถาวร แต่มีปัญญารู้ว่าเราทำสิ่งใดก็เป็นสมบัติวิบากของเรา เมื่อให้ผลแล้วก็จบดับไป สุดท้ายก็ไม่มีใครได้อะไร เพราะสมบัติแท้ชิ้นสุดท้ายของคนทุกคน คือ ความไม่ได้ไม่เป็นไม่มีอะไร เป็นผู้ไม่อยากได้ไม่อยากเป็นไม่อยากมีอะไรตอบแทนจากใคร เพราะรู้ว่าในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่วิบาก(ผล)แห่งกรรม(การกระทำ)ของเรา ก็จะจัดสรรให้เราได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้เองตามธรรม จึงสงบสบายไม่มีทุกข์ในใจใดๆ เป็นเหตุให้จิตใจผาสุก ร่างกายแข็งแรงอายุยืน
จากข้อปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นก็คือการปฏิบัติจรณะ ๑๕ คือ ข้อประพฤติธรรมเพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลส ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๒๗-๓๒ คือ
๑.  สังวรศีล (ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส)
๒. สำรวมอินทรีย์ (ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ตอบสนองหรือทำตามความต้องการของกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ภัยทั้งปวง แต่ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำสิ่งที่ดีที่เป็นกุศลเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น อย่างรู้เพียรรู้พัก)
๓. โภชเนมัตตัญญุตา (รู้ประมาณในการบริโภค คือ ไม่กินไม่ใช้ในสิ่งที่เป็นโทษ แต่กินใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างพอเหมาะพอดี คือ กินใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะไม่ขาดแคลน แต่สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด )
๔. ชาคริยานุโยคะ (ทำความเพียรตื่นอยู่ คือ ตื่นจากโลกียะมาสู่โลกุตระสุข เป็นการตื่นจากการทำชั่ว ไม่ทำดี ทำจิตให้เศร้าหมอง มาสู่การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส)
๕. ศรัทธา (เชื่อมั่นในความตรัสรู้ทางดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า พระอาริยะ และเชื่อมั่นว่าตัวเองก็สามารถฝึกฝนให้บรรลุธรรม/พ้นทุกข์ตามได้)
๖. หิริ (ละอายต่อการทำชั่วทางกายวาจาใจ ต้องเกิดสภาพละอายต่อชั่วต่อบาปที่มีอยู่ในจิตใจรวมถึงที่ปฏิบัติแสดงออกทางกายวาจาจริงๆ จึงจะบรรลุธรรม(พ้นทุกข์)ได้)
๗. โอตตัปปะ (สะดุ้งกลัวต่อการทำชั่วทางกายวาจาใจ ต้องเกิดสภาพสะดุ้งกลัวต่อชั่วต่อบาปที่มีอยู่ในจิตใจรวมถึงที่ปฏิบัติแสดงออกทางกายวาจาจริงๆ จึงจะบรรลุธรรม/พ้นทุกข์ได้)
๘. พหูสูต (ฟังธรรมรู้ธรรมมาก คือ ฟังธรรมมากและปฏิบัติได้มาก จนมีสภาพบรรลุธรรมที่มาก จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก)
๙.   วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร คือ พากเพียรทำกิจกรรมการงานอันเป็นกุศล พร้อมกับการพากเพียรล้างทุกข์ในจิต ด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ไปพร้อมๆ กันในการดำเนินชีวิตปกติ)
๑๐. สติ (ระลึกรู้ตัวไม่เผลอใจ คือ ระลึกรู้กายวาจาใจอยู่เสมอว่าเป็นอกุศลหรือกุศลเป็นการทำชั่ว ไม่ทำดี ทำจิตใจให้เศร้าหมอง หรือเป็นการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ปฏิบัติระลึกรู้กายวาจาใจที่จะให้เกิดการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ)
๑๑. ปัญญา (ใช้ปัญญาที่ถูกต้องในการชำแรกล้างกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ และรู้แจ้งว่ากิเลส/ทุกข์ ดับไปมากน้อยแค่ไหน)
๑๒. ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑ วิตกวิจาร)
๑๓. ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒ ปีติ)
๑๔. ตติยฌาน (ฌานที่ ๓ สุข)
๑๕.  จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔ อุเบกขา) 
เมื่อปฏิบัติจรณะ ๑๕ จนเกิดฌาน ๔ อันเป็นสภาพที่จิตเราสามารถทำลายล้างกิเลส/ทุกข์ได้ เมื่อเราทำได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนรู้สึกว่าไม่มีทุกข์เรื่องนั้นๆในจิตใจ คือเรื่องนั้นๆ/กิเลสตัวนั้นๆไม่สามารถทำความทุกข์ให้กับจิตใจเราได้อีก เราก็จะตรวจจิตซ้ำด้วยอรูปฌาน ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ ข้อ ๕๑๙ ดังนี้
๑.     อากาสานัญจายตนฌาน (เข้าถึงสภาวะอากาศหาที่สุดมิได้ คือ การตรวจจิตของตนเองว่าว่างโล่งจากกิเลสอันเป็นจิตวิญญาณที่ดีที่สุดนั้น เรามีสภาพนั้นจริงหรือไม่)
๒.    วิญญาณัญจายตนฌาน (เข้าถึงสภาวะวิญญาณหาที่สุดมิได้  คือ การตรวจจิตของตนเองซ้ำอีกครั้งว่าจิตวิญาณไม่มีกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง อันเป็นจิตวิญญาณที่ดีที่สุดนั้น เรามีสภาพนั้นจริงหรือไม่)
๓.    อากิญจัญญายตนฌาน (เข้าถึงสภาวะไม่มีอะไร น้อยหนึ่งก็ไม่ให้มี คือ การตรวจจิตของตนเองซ้ำอีกครั้งว่ากิเลสดับสูญจากจิตวิญญาณ จนไม่มีกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยงไม่มีกิเลสเหลือ แม้เล็กแม้น้อยก็ไม่มี อันเป็นจิตวิญญาณที่ดีที่สุดนั้น เรามีสภาพนั้นจริงหรือไม่)
๔.    เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (เข้าถึงสภาวะหมายรู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ คือ การตรวจจิตของตนเองซ้ำอีกครั้งว่ากิเลสดับสูญสิ้นเกลี้ยงจากจิตวิญญาณ จนไม่มีกิเลส อย่างไม่มีกิเลสเหลือแม้เล็กแม้น้อยก็ไม่มี อย่างมั่นใจว่าไม่มีสภาพเหมือนจะรู้ว่ามีกิเลสเหลืออยู่หรือเหมือนรู้ว่าไม่มีกิเลสเหลืออยู่ เป็นสภาพที่ชัดเจนมั่นใจว่าไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในจิตวิญญาณแน่ๆ อันเป็นจิตวิญญาณที่ดีที่สุดนั้น เรามีสภาพนั้นจริงหรือไม่)
ถ้าตรวจจิตของเราเองด้วยอรูปฌาน ๔ จนมั่นใจว่ากิเลส/ทุกข์ ถูกล้างจนสิ้นเกลี้ยงจนไม่เหลือในจิตวิญญาณของเรา เราก็ตัดสินได้ว่าเราได้ปฏิบัติจนจบกิจในการล้างกิเลส/ทุกข์นั้นๆได้แล้ว เป็นสภาพสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ เราได้หมายรู้(สัญญา)แล้วว่าในอารมณ์ความรู้สึก(เวทนา)ของเรานั้นดับหรือไม่มีกิเลส/ทุกข์อย่างสิ้นเกลี้ยงแล้ว ก็คือวิมุติ(การหลุดพ้นจากทุกข์)/นิโรธ(สภาพดับทุกข์)/นิพพาน(ทุกข์ตายหรือสงบจากทุกข์) เป็นสภาพหมดทุกข์หมดภัยจากกิเลสนั้นๆอย่างยั่งยืน
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๐ ข้อ ๖๕๙ สภาวะของนิพาน ๗ ข้อ เป็นสภาวะของกิเลสทั้งปวงสิ้นเกลี้ยงแล้ว คือ
๑.     ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา)
๒.    ไม่มีอะไรหักล้างได้ (อสังหิรัง)
๓.    ไม่กำเริบ (อสังกุปปัง)
๔.    เที่ยง (นิจจัง)
๕.    ยั่งยืน (ธุวัง)
๖.     ตลอดกาล (สัสสตัง)
๗.    ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง)
            ดังนั้น การปฏิบัติวิปัสสนาที่ถูกต้องแท้อย่างพากเพียร ก็จะทำให้สภาพทุกข์ใจที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่องลดลงหรือดับไปอย่างยั่งยืน ก็คือ วิมุติ(การหลุดพ้นจากทุกข์)/นิโรธ(สภาพดับทุกข์)/นิพพาน(ทุกข์ตายหรือสงบจากทุกข์) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิมุติ(การหลุดพ้นจากทุกข์)เป็นกำลัง”(พระไตรปิฎก เล่ม ๓๑ ข้อ ๖๒๙)   ดังนั้นผู้พ้นทุกข์ทางใจได้ ก็จะมีพลังใจพลังกายในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สิ่งที่ที่ดีงามต่างๆ และมีพลังใจพลังกายในการขับพิษออกจากร่างกาย มีพลังใจพลังกายในการซ่อมแซมและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมการงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพบกับความผาสุกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง