การทำดีอย่างมีความสุข ๖ ข้อ

ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ของการทำดีอย่างมีสุข ๖ ข้อ ดังนี้
๑. รู้ว่าอะไรดีที่สุด
๒.ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด
๓.ลงมือทำให้ดีที่สุด
๔.ยินดีที่ได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว
๕.ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด
๖.นั่นแหละคือ"สิ่งที่ดีที่สุด"
ซึ่งขยายรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
         เมตตา ก็คือ รู้ว่าอะไรดีที่สุด และปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับเขาหรือเรา
         กรุณา ก็คือ ลงมือทำให้ดีที่สุด
         มุทิตา ก็คือ ยินดีเมื่อดีเกิดขึ้นกับเขาหรือเรา  แม้เขาหรือเราจะไม่ได้ผลดีดังที่มุ่งหมายหรือได้ดีน้อยกว่าที่มุ่งหมาย เราก็ยินดีที่เราไม่ได้ดูดาย ยินดีที่เราได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว เพราะเมื่อเราได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ดีก็ได้เกิดขึ้นแล้วในกาย/วาจา/ใจของเรา เราก็ยินดีที่ดีได้เกิดขึ้นแล้วในกาย/วาจา/ใจของเรา
         อุเบกขา ก็คือ การปล่อยวาง ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะความยึดมั่นถือมั่นทำให้ใจเราเป็นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นย่อมไม่ทุกข์ (พระไตรปิฏก เล่ม ๒๙ ข้อ ๓๖๐)
         ดังนั้น การไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ หล้งจากที่เราได้ลงมือทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่แล้ว ทำให้ใจเราเป็นสุข/ไม่ทุกข์ ทำเต็มที่แล้วก็สุขเต็มที่ได้แล้ว ทำดีที่สุดแล้วก็สุขที่สุดได้แล้ว ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจ ทำดีที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียดาย ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องทุกข์ ทำดีที่สุดแล้วก็สุขที่สุดได้แล้ว เพราะผลที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์จะไม่เที่ยง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเหตุปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ บาปบุญของเรา บาปบุญของโลก ความพากเพียรของเรา ความพากเพียรของโลก และสิ่งแวดล้อม สังเคราะห์ผสมผสานกัน ก็จะเกิดผลขึ้น ถ้าองค์ประกอบเหตุปัจจัยลงตัวดี ก็จะได้ผลมาก องค์ประกอบเหตุปัจจัยลงตัวไม่ดี ก็ได้ผลน้อย หรือล้มเหลว แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสุดท้ายมันก็จะดับไป มันไม่ใช่สมบัติแท้ของเรา เราจะไปยึดมั่นถือมั่นให้ทุกข์ใจทำไม
          พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา"(พระไตรปิฏก เล่ม ๑๗ ข้อ ๘๔-๘๖) ดังนั้น โดยสัจจะที่แท้จริง จึงไม่มีใครได้ ใครเป็นใครมีอะไร เพราะสมบัติชิ้นสุดท้ายที่แท้จริงของแต่ละคน ก็คือ ความสูญเปล่า ความไม่ได้ ไม่เป็น ไม่มีอะไร เรามีหน้าที่ทำแต่ละสิ่งแต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็น พลังงาน วัตถุหรือบุคคล ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์แท้ที่สุดเท่าที่จะทำได้และเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้โลกและเราได้อาศัย ก่อนที่มันจะดับไปหรือก่อนที่เราจะดับไปเท่านั้น นั่นแหละคือความผาสุกที่แท้จริงของชีวิต การทำแต่ละข้อมาเป็นลำดับ นั่นแหละคือ"สิ่งที่ดีที่สุด"