วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

จิตใจเกี่ยวข้องกับการหายหรือไม่หายโรคอย่างไร

ความไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล จะทำให้โรคทุเลาหรือหายได้เร็ว ตายได้ยาก และจิตใจเป็นสุขที่สุดในโลก ส่วนความกลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวล จะทำให้โรคทรุดหนัก กำเริบหนัก ตายได้เร็ว และจิตใจเป็นทุกข์ที่สุดในโลก
ผู้เขียนพบว่า เมื่อคนมีความกลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวล จิตจะไม่ต้องการอารมณ์ทุกข์ดังกล่าว จึงสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติไขสันหลัง สั่งการให้กล้ามเนื้อในร่างกายของผู้นั้นเกร็งตัวบีบเอาอารมณ์ทุกข์นั้นออกไป แต่โดยสัจจะแล้วร่างกายไม่สามารถบีบความทุกข์ออกจากจิตใจได้ จิตใจที่มีปัญญาทางธรรมที่แท้เท่านั้น จึงจะสามารถล้างทุกข์ในจิตใจได้
ดังนั้น ตราบเท่าที่ความทุกข์ทางใจไม่ถูกกำจัดออก กล้ามเนื้อก็จะเกร็งค้างเพื่อบีบความทุกข์ใจออก แต่กายก็เกร็งบีบเอาความทุกข์ใจออกไม่ได้ จึงเกร็งบีบค้าง เพราะชีวิตไม่ต้องการทุกข์ใจ การเกร็งบีบค้างของกล้ามเนื้อ จะกดทับเส้นเลือด เส้นประสาท   และเส้นลมปราณ เกิดอาการตึงแข็งปวดชา และทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ได้ ของดีเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ ของเสียไหลเวียนออกจากเนื้อเยื่อไม่ได้ ทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมและตายลง เกิดอาการกำลังตกอ่อนเพลียหมดเรี่ยวหมดแรง เพราะเสียพลังในการเกร็งตัวขับอารมณ์ทุกข์ และเลือดลมก็ไหลเวียนไม่ได้  ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ โรคทรุดหนักและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
ดังตัวอย่างของความจริงที่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ เช่น บางคนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ แต่ไปตรวจร่างกาย แล้วหมอก็บอกว่าพบโรคร้ายแรง คาดว่าจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ ๖ เดือน   แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอายุไม่ถึง ๖ เดือน เช่น เสียชีวิตทันทีที่รับรู้ข้อมูล (ช็อคตาย) หรือภายในหนึ่งเดือน/สองเดือน/สามเดือนก็ตายแล้ว เป็นต้น หรือชีวิตปกติไม่มีอาการอะไร แต่พอรับรู้ข้อมูลเรื่องโรคที่พบ ก็เกิดอาการทรุดหนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับอย่างรวดเร็ว สิ่งเลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากโรคเลย แต่เกิดจากจิตใจที่มีอารมณ์ทุกข์ล้วนๆ
ตรงกันข้าม เมื่อจิตใจไม่มีอารมณ์ทุกข์ จิตใจก็จะเป็นสุข จิตก็จะสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติไขสันหลังสั่งการให้กล้ามเนื้อคลายการเกร็งบีบ เพราะไม่มีอารมณ์ทุกข์ที่จะต้องบีบออก เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว เลือดลมก็จะไหลเวียนสะดวก ของดีเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ ของเสียระบายออกจากเนื้อเยื่อได้ ประกอบกับสารเอนโดรฟิน ก็จะหลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิทารี ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายแข็งแรงได้อย่างรวดเร็วและระงับอาการปวดได้ดีมาก กลไกดังกล่าวทำให้อาการตึงแข็งปวดชาหรืออาการไม่สบายต่างๆ นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายก็จะฟื้นฟูสภาพได้อย่างรวดเร็ว
ผู้เขียนพบว่า มีประชาชนจำนวนมากที่มีอาการทรุดหนัก ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง  แต่ก็ฟื้นสภาพร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ภายในเสี้ยววินาทีก็มี ใช้เวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนก็มี เมื่อสามารถทำจิตใจให้ไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล ด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในคนนั้นคนนี้ หรือเชื่อมั่นในสัจจะที่แท้จริง
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจิตใจที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ว่ามีผลต่อสุขภาพมากแค่ไหน เช่น ผู้ป่วยที่อาการย่ำแย่ทรุดหนักหลายท่านที่ศรัทธา(เชื่อมั่น)ในผู้เขียน เมื่อรู้ว่าจะได้มาหาผู้เขียนหรือจะได้มาเข้าค่าย ร่างกายก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มาหรือเพิ่งกำลังเดินทางมา สิ่งที่ดีนั้นล้วนเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากผู้เขียน หรือในช่วงแรกๆที่ผู้เขียนเปิดศูนย์สุขภาพ ได้รับผู้ป่วยหนักไว้ดูแล (ปัจจุบันไม่ได้รับแล้วเนื่องมีภารกิจมากจนเกินกำลังที่จะรับผู้ป่วยหนักไว้ได้) ถ้าผู้เขียนอยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้เขียนไม่ได้ไปทำอะไรให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าผู้เขียนไปทำภารกิจนอกศูนย์สุขภาพเพียงหนึ่งวัน หรือบางครั้งก็หลายวัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะอาการทรุดหนักหรือเสียชีวิต
อาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลงของผู้ป่วยดังกล่าวนั้น ล้วนเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองทั้งสิ้น คือ ถ้าผู้เขียนอยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยก็จะมั่นใจ สุขใจ ไม่กลัว ไม่กังวล อาการจึงดีขึ้น แต่ถ้าผู้เขียนไม่อยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยก็จะไม่มั่นใจ ทุกข์ใจ กลัว  กังวลใจ อาการจึงแย่ลง 
จะเห็นได้ว่า จิตใจมีผลต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “จิตวิญญาณเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง จิตเป็นใหญ่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑)
ดังนั้น แทนที่จะให้ผู้ป่วยมายึดมั่นถือมั่นในตัวผู้เขียน ซึ่งชีวิตของผู้เขียนก็ไม่เที่ยง   ไม่แน่นอนว่าเวลาใดจะอยู่ที่ไหนไปที่ไหนหรือจะเป็นจะตายตอนใด ผู้เขียนจึงเน้นให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในสัจจะที่พาพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ สมดุลร้อนเย็น(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อที่ ๒๙๓) หยุดชั่ว ทำดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส ไร้ทุกข์ ไร้กังวล (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔) แล้วพากเพียรปฏิบัติให้มีสัจจะนั้นในตัวเอง  ผู้นั้นเองก็จะมีที่พึ่งแท้ที่ดีที่สุดตลอดกาลนาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลาย มีจิตนำหน้า” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑) , “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔), “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔)
“ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒)
จะเห็นได้ว่า ทุกข์ย่อมไม่มีในผู้ไร้กังวล
จากการวิจัยของผู้เขียนในระดับปริญญาโทสาขาพัฒนบริการศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เรื่องความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง   สวนป่านาบุญ  อำเภอดอนตาล  จังหวัดมุกดาหาร พบว่า  จิตใจมีผลต่อสุขภาพ ๗๐% ส่วนวัตถุมีผลต่อสุขภาพ ๐%
จะเห็นได้ว่า  จิตใจมีผลอย่างมากต่อสุขภาพ
            พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องสาเหตุของการมีอายุสั้น อายุยืน โรคมากและโรคน้อย ดังข้อความในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๘๐-๕๘๕ ดังนี้
            ข้อ ๕๘๐ สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญอะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีตฯ
            ข้อ ๕๘๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯ
            จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่แต่ละคนรับอยู่ เกิดจากกรรม(การกระทำ) ของคนๆ นั้นทั้งหมด
            ข้อ ๕๘๒ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือดหมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต จะเป็นคนมีอายุสั้น...
            ข้อ ๕๘๓ ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตรา (อาวุธหรือวิชาเข่นฆ่า)ได้ มีความละอาย(ต่อบาป) ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่... จะเป็นคนมีอายุยืน...
            ข้อ ๕๘๔ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน) ... จะเป็นคนมีโรคมาก...
            ข้อ ๕๘๕ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน)... จะเป็นคนมีโรคน้อย...
ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก (ขุ.ธ. เล่ม ๔ ข้อ ๖)
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ส่วนการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อยและอายุยืน
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๕๙), ละทุกข์ทั้งปวงได้    เป็นความสุข (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๓)

ดังนั้น การที่จะมีสุขภาพดีหรือทำให้ความเจ็บป่วยลดน้อยลงจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือลดละเลิกพฤติกรรมที่ทำให้ภาวะร้อนเย็นของร่างกายไม่สมดุลหรือทุกข์เบียดเบียน และทำพฤติกรรมที่ทำให้ภาวะร้อนเย็นของร่างกายสมดุลหรือไม่ทุกข์ไม่เบียดเบียนทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ
ดังนั้นการทำใจไม่ให้มีทุกข์ คือ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล เป็นการไม่เบียดเบียนตนด้านจิตใจ จึงเป็นการรักษาโรคที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น