วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนพอเพียง


 คนพอเพียง
              คนพอเพียง จะเลี้ยงชีพด้วยการให้ แบ่งปัน เสียสละ จึงทำให้ชีวิตเป็นอยู่อย่างคนจน เพราะยิ่งให้ แบ่งปัน เสียสละ ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิตออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหลือทรัพย์สมบัติของกินของใช้ส่วนตัวน้อยลงเท่านั้นๆ    ถ้ามองเผินๆการปฏิบัติดังกล่าว น่าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ลำบาก ขาดแคลน เสียเปรียบ โง่ที่สุดในโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ขยันทำกิจกรรม/การงาน/กุศลธรรม/สิ่งที่ดีงามต่างๆอย่างเต็มที่ ตัวเองก็กินน้อยใช้น้อยแค่พอดีสบาย ไม่มากหรือน้อยเกินจนทรมานตน เก็บสิ่งที่จำเป็นไว้เท่าที่จะสามารถดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงานไปได้ ที่เหลือทำการให้ แบ่งปัน เสียสละ ไปในบุคล/สถานที่ที่ควรให้ อันเป็นคุณสมบัติ/คุณลักษณะของคนพอเพียงที่แท้จริง กลับเป็นสุดยอดแห่งความชาญฉลาดของการปฏิบัติตน ที่ทำให้ชีวิตมั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
              พระพุทธเจ้า ในหลวง และปราชญ์แห่งความดีงามที่แท้จริงแต่ละท่าน ล้วนเป็นต้นแบบของคนพอเพียงที่แท้จริง เพราะแต่ละท่านล้วนขยันกระทำในสิ่งที่ดีงาม แต่กินใช้ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย
              ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวธรรมของภิกษุ (ผู้ปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์) ซึ่งเป็น   ผู้สันโดษ (ยินดีในความมักน้อยอย่างพอเหมาะ) อยู่เสมอ ด้วยปัจจัย (สิ่งที่จำเป็นในการยังชีพ)ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ว่าเป็นองค์ (องค์คุณองค์ประกอบ) แห่งความเป็นสมณะ (ผู้สงบจากทุกข์ผู้พ้นทุกข์)” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘๑)
              จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าค้นพบว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องใช้สิ่งจำเป็นในการยังชีพที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ดังนั้น วิธีการที่ประหยัด เรียบง่าย จึงเป็นคำตอบของการพ้นทุกข์พระองค์ท่านทรงค้นพบว่า การดับทุกข์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้สิ่งที่หาได้ง่าย อยู่ในตัวหรือใกล้ตัวเรามาปรับสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ
              สอดคล้องกับพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง (๔ ธ.ค.๓๔) เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ คนจนเราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้                          แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว
              “แต่ถ้าเรามีการบริหาร แบบเรียกว่าแบบ คนจนแบบไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากันก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้น เขาบอก อนาคตยังมี”  แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา ปิดตำราแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ ตำราแบบ คนจนใช้ความอะลุ่มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้าเรื่อยๆ
              จะเห็นได้ว่า ในหลวงทรงพบว่า การแก้ปัญหาหรือพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดนั้น ต้องกระทำอย่างประหยัดที่สุดคือใช้เงินหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้น้อยที่สุด (ทำแบบ คนจน) แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
              เมื่อส่วนตัวกินใช้เพียงเล็กน้อย ทำกิจกรรมการงานด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่ายที่สุด แต่เกิดประโยชน์สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบคนจน ที่เหลือก็แบ่งปันเกื้อกูลผู้อื่น   ก็จะทำให้เราและผองชนได้ประโยชน์สุขในชีวิต  
              ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ให้ของดี ย่อมได้ของดี” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๔), “ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๕), “ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๖), “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๖), “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓)  ซึ่งเราต้องทำสิ่งดังกล่าวด้วยตัวของเราเอง ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒)
             ดังนั้นการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ มีคุณค่าและผาสุก ก็คือชีวิตที่เกิดมาเพื่อพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์ นี้คือคุณค่าแท้ของชีวิต ดังนั้น ภารกิจที่ดีที่สุดในโลก คือ   ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตตนมีความผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย แล้วทำให้เพื่อนร่วมโลกผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย เท่าที่จะทำได้
            มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์จากดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาคุยกับผมว่าที่หมอเขียวมาบ่นๆว่าโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ไม่ค่อยได้สอนเรื่องความผาสุกที่แท้จริงเลย อาจารย์ท่านนั้นก็เล่าให้ผมฟังว่า ก็มีหลายท่านพยายามทำอยู่ เราก็ดีใจนะ มีหลายท่านพยายามทำอยู่ ไม่ใช่เราทำคนเดียว มีคนบุญมีเทวดามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ อาจเพราะหูตาเราไปไม่ถึงก็ได้ จริงๆก็พอเห็นอยู่บ้าง แต่ผู้ที่จะสอนวิชาให้คนผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นมีน้อย เพราะแต่ละท่านที่ทำอยู่มันจะยากมาก แต่สอนวิชาให้เก่งนั้นง่ายและมีมาก แต่เมื่อไม่มีคุณธรรมแล้ว ความเก่งจะเป็นความโง่ที่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น                        คนที่ไม่มีคุณธรรม เขาจะเอาความเก่งมาทำร้ายตัวเองและสังคม ไม่มีประโยชน์อะไร    เก่งแล้วไร้ค่า  ถ้าไม่มีคุณธรรม ความจริงแย่กว่าไร้ค่า เพราะเลวร้ายกว่าไร้ค่า
               วันนี้ผมจะพูดถึงชีวิตที่มีความผาสุกอย่างยั่งยืนว่าจะทำได้อย่างไร ลองปฏิบัติพิสูจน์ดู การทำความดีจะทำให้ได้ความผาสุกที่ยั่งยืน ความดีที่สำคัญอันหนึ่งคือความจน ความจนคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ชีวิตใครจนได้ ชีวิตนั้นมีความผาสุกได้ ชีวิตใครจนไม่ได้ ชีวิตนั้นก็ไม่มีความผาสุกที่แท้จริง
                 ครูบาอาจารย์ของผมยกให้ในหลวงองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะมาบำเพ็ญให้ผองชนมีความผาสุกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ในเมื่อท่านมาบำเพ็ญเพื่อให้มนุษย์เป็นอยู่อย่างผาสุก แล้วทำไมท่านตรัสเรื่องความจนเอาไว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การใช้สิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย จะทำให้พ้นทุกข์ ก็แปลว่าจนนั่นแหละ ซึ่งสอดคล้องกับที่ในหลวงตรัสไว้ ต้องทำแบบคนจน ประหยัด ไม่ต้องกินใช้มากก็ได้ ถ้าพี่น้องฟังเข้าใจจะเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย
                       จนแบบในหลวงน่ะ จนแบบมีอยู่มีกินนะ ไม่ใช่ไม่มีอยู่ไม่มีกิน ไม่ใช่จนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก หลายคนเข้าใจว่าเป็นความจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่นะ เป็นความจนอีกแบบ จนแบบมีอยู่มีกิน   เหลืออยู่เหลือกิน(มีเหลือแบ่งปัน) จนแบบมีความสุขที่สุดในโลก สุขกว่าคนรวย สุขกว่าคนจนที่สิ้นไร้ไม้ตอก สุขกว่าคนที่มีฐานะปานกลางแบบทั่วไป สุขแบบคนจนที่ไร้กังวล เป็นคนจนที่มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก
                         “อุตสาหกรรม ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นภัยในหลวงท่านตรัสเลยว่า ประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้ามากเกินไปมีปัญหาแน่ๆ ไม่ใช่จะไม่มีอุตสาหกรรมเลยนะ ให้มีแบบสมควร แต่ถ้ามีมากไปจะเป็นภัยเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ที่เขาไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็เพราะว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร นักวิชาการทั้งหลายที่เด่นๆ อยู่ในโลก เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาจึงเปิดๆ ปิดๆ ตำราอยู่นั่นแหละ เพราะเป็นตำราที่แก้ทุกข์ไม่ได้นั่นแหละแบบเก่า แต่ในหลวงท่านตรัสว่า ถ้าใช้ตำราแบบคนจน ใช้แบบอลุ่มอล่วยกัน จะก้าวหน้าเรื่อยๆ 

จนอย่างผาสุกด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ
                        ทำไมในหลวงผู้เป็นประมุขของประเทศจึงมีปรัชญาแนวคิดนโยบายให้ประชาชนมาจน แล้วบอกว่าจะก้าวหน้าเรื่อยๆ ถ้าคนฟังไม่เข้าใจ จะหูหักเลยจริงๆ แล้วบอกว่ามาจนนะดี ถ้าจนอย่างมีคุณค่าและผาสุกคือ จนอย่างมีชิวิตที่มั่นคง มีคุณค่าและผาสุก ซึ่งเป็นคนจนอีกประเภทหนึ่งที่ในระบบปกติทั่วไปไม่รู้ จึงไม่สอนกัน แต่ถ้าใครทำได้จะมีความสุขที่สุดในโลก จนอย่างไร คือ ฝึกให้และฝึกทำงานฟรี ซึ่งเป็นคนจนที่มีคุณสมบัติ/คุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่
๑. พึ่งตน พึ่งตนในปัจจัย ๔ ได้ พึ่งตนในการดับทุกข์ของตัวเองได้
๒. เรียบง่าย มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่รบกวนใคร ไม่รบกวนโลก สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมการงาน จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เขาจะอยู่ได้อย่างผาสุก
๓. ประหยัด จะกินน้อยใช้น้อย เท่าที่จะไม่ขาดแคลน ไม่ทรมานตน หรือเท่าที่จะสมบูรณ์แบบที่สุด
๔. ขยัน เพียรเต็มที่และพักพอดี
๕. แบ่งปัน จากการปฏิบัติคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือ พึ่งตน เรียบง่าย ประหยัด ขยัน จะทำให้มีเหลือ ในส่วนเหลือถ้าเก็บเอาไว้จะเป็นภาระเป็นภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าแบ่งปันออกไปก็จะเป็นบุญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คุณสมบัติ/คุณธรรมข้อนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตความสุขมากที่สุด  และเป็นหลักประกันที่แท้จริงของความมั่นคงในชีวิต
                 “ความสุขที่ซื้อไม่ได้ คือการแบ่งปัน/เสียสละคุณจะไม่มีความรู้สึกสุขแบบนี้ได้เลย ถ้าคุณไม่แบ่งปัน คือแม้คุณจะมีเงินเป็นล้านๆ แต่คุณก็จะไม่มีความสุข หรือได้ความรู้สึกว่าสุขที่สุดได้เลย ถ้าไม่แบ่งปัน คุณจะไม่มีความสุขเลย ต้องให้ จนไม่มีอะไรจะเอาจึงจะเกิดสภาพ ให้ จนไม่มีอะไรจะทุกข์ชีวิตที่มั่นคง คือ ชีวิตที่ให้และเสียสละอย่างแท้จริง
                 เรามาเรียนรู้ว่า ผู้ที่ให้จะมีความสุขอย่างไร ผู้ที่ให้จะยิ่งมีความสุขที่สุดในโลก ผู้ที่ให้คือผู้ทำงานฟรี อาชีพทำงานฟรี คือ เป็นอาชีพที่ดีที่สุดในโลก เป็นอาชีพที่มั่นคง  มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น