วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สัจจะกู้ชาติ ยุทธศาสตร์การต่อสู้สู่ชัยชนะที่แท้จริง (1)

ยุทธศาสตร์การต่อสู้สู่ชัยชนะที่แท้จริง
โดย หมอเขียว : ใจเพชร กล้าจน (แพทย์วิถีธรรม-กองทัพธรรม)
พระพุทธเจ้า “มหาบุรุษจอมยุทธแห่งนักสู้ต่อความเลวร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่มีใครเทียมเท่า(นักรบผู้ไร้เทียมทาน)” พระพุทธองค์เป็นผู้ที่พัฒนาการต่อสู้ที่มีแสนยานุภาพสูงสุดในโลก ใช้เวลาสี่อสงไขหนึ่งแสนกัป (นับล้านปีไม่ถ้วน) ชีวิตพระพุทธองค์นั้นทำภารกิจหลักในการต่อสู้ทำลายชีวิตที่เลวร้ายเพื่อสร้างให้เกิดชีวิตที่ดีงามตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้แก่ การใช้ยุทธวิธีแห่งพุทธะให้เกิดการทำลายความชั่วร้ายในลูกศิษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสโลภโกรธหลงอันเป็นเหตุแห่งความเลวร้ายที่แท้จริง คนแล้วคนเล่าๆ รวมทั้งจอมโหดเทวทัต    นายขมังธนู องค์คุลิมาน ช้างนาราคีรี ฯลฯ ที่สร้างบาปเบียดเบียนตนเอง ผองชน ไม่เว้นแม้แต่การมุ่งมาเข่นฆ่าทำร้ายพระพุทธองค์ ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ชนะด้วยการสามารถทำลายความเลวร้ายในชีวิตดังกล่าวได้ เมื่อจิตวิญญาณแห่งความเลวร้ายในชีวิตดังกล่าวตายไป ได้เกิดเป็นจิตวิญญาณใหม่ที่ดีงาม ทำให้ผองชนปลอดภัยและกลับกลายเป็นได้ประโยชน์สุขจากชีวิตดังกล่าว อันเป็นพลังกุศลที่ย้อนกลับไปสร้างประโยชน์สุขให้กับชีวิตที่ดีงามของๆผู้นั้นๆ พระพุทธองค์ทรงพากเพียรทำภารกิจหลักดังกล่าวให้ได้มากที่สุดเท่าที่พระองค์จะทำได้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
ยุทธศาสตร์การต่อสู้สู่ชัยชนะที่แท้จริง อันเป็นแสนยานุภาพสูงสุดของการต่อสู้ในแต่ละชีวิตนั้น พระองค์วางอาวุธทั้งหมด ใช้การต่อสู้ด้วยมือเปล่า ที่ต้องใช้ความกล้าหาญ อดทน เสียสละ ศรัทธา ปัญญา สันติ อหิงสา อโหสิ เมตตา อุเบกขา อย่างสูงสุด ดำเนินยุทธวิธีตาม พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ วัณณสูตร ข้อ ๘๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก(ชีวิตได้รับเดือดร้อนทุกข์ทรมานทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไป)เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลไม่พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว กล่าวสรรเสริญ บุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑ ไม่พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้วปลูกความ         ไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก(ชีวิตผู้นั้นได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมานทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไป) เหมือนถูกนำมาโยนลง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์(ชีวิตผู้นั้นได้รับประโยชน์ความผาสุกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไป) เหมือนถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลพิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้วย่อมติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑ พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว ย่อมสรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑ พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑ พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในสวรรค์(ชีวิตผู้นั้นได้รับประโยชน์ความผาสุกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไป) เหมือนถูกเชิญมา ฯ สอดคล้องกับพระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๔๔๒ “...ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์...ควรข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง...อย่าให้เกรี้ยวกราดนัก เพราะว่าสกุลที่มั่นคงเป็นอันมากได้ถึงความไม่เป็นสกุล(เสียหายเดือดร้อนพินาศ)เพราะความโกรธแส่หากามารมณ์ ย่อมพินาศหมด...ขยันบำเพ็ญกุศล...จงทรงศีล เพราะว่าคนทุศีลย่อมตกนรก(ชีวิตผู้นั้นได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมานทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไป).”พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ อุปัฑฒสูตร ข้อ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า...ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนี้เป็นพรหมจรรย์(ความพ้นทุกข์)ทั้งสิ้นทีเดียว และพระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะล่วงทุกข์เพราะความเพียร(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ข้อ ๒๐๐) อย่างรู้เพียรรู้พัก(รู้บุกรู้ถอย)(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๒)
ดังนั้นยุทธวิธีการต่อสู้ที่มีแสนยานุภาพสูงสุดอันจะนำมาซึ่งชัยชนะที่แท้จริง คือ ติหรือข่มในสิ่งที่ควรติควรข่ม ยกย่องในสิ่งที่ควรยกย่อง ลดละความโกรธและกาม ขยันบำเพ็ญกุศล ปฏิบัติศีลให้สูงยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้ ทำด้วยพลังมิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดี คือทำควบคู่กับมาตรการทางสังคม กฎหมาย และกฎแห่งกรรม ใช้การต่อสู้โดยมือเปล่า ด้วยความกล้าหาญ อดทน เสียสละ ศรัทธา ปัญญา สันติ อหิงสา อโหสิ เมตตา อุเบกขา สูงสุด จะเกิดประโยชน์สูงสุด ปลอดภัยที่สุด เสียหายน้อยที่สุด เมื่อปฏิบัติด้วยความไม่กลัว ไม่กร่าง ไม่ทำร้ายใคร สงบหรือหลบเลี่ยงจากการปะทะด้วยความรุนแรง ให้กำลังใจคนดี ให้สติคนชั่ว ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม โดยพยายามใช้ท่าทีลีลาทางกายวาจาใจที่ไม่หยาบ ไม่ยั่วยุ ไม่ลบหลู่ดูแคลนด่าว่าแบบเหมาเข่งว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ชั่วทั้งหมดทุกคน แม้จะเป็นกลุ่มหรือองค์กรเดียวกัน ก็ต้องแยกแยะตำหนิด่าว่าเฉพาะคนชั่ว ส่วนคนดีนั้นต้องชื่นชมส่งเสริมให้กำลังใจ เมื่อรวมพลังกันทำเป็นหมู่มิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดี จะเป็นพลังแห่งความดีที่แผ่ไพศาลเสริมหนุนให้คนดีทุกสาขาอาชีพ เช่น ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ศาล องค์กรอิสระ นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน เป็นต้น มีกำลังใจในการทำหน้าที่ที่ดีอย่างเต็มที่ อันจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์สูงสุด ปลอดภัยที่สุด เสียหายน้อยที่สุด   
                    เมตตาคือปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีงามให้เกิดความผาสุกต่อผองชน ไม่อยากให้ผองชนได้รับความเดือดร้อนเลวร้ายจากคนชั่ว รวมทั้งปรารถนาดีต่อคนชั่ว อยากให้คนชั่วกลับใจแล้วหันมาปฏิบัติความดีอันจะทำให้ชีวิตของเขาได้รับความผาสุกที่แท้จริง ไม่อยากให้เขาบาปมากไปกว่าที่เขาทำมาแล้ว เพราะบาปนั้นจะทำให้เขาทุกข์ทรมานอีกยาวนานหลายชาติ ทั้งชาตินี้และชาติอื่นๆสืบไปอย่างแน่นอน ถ้าผู้ที่ทำไม่ดีนั้นมีสติหยุดทำสิ่งที่ไม่ดีแล้วพากเพียรทำความดี วิบากดีก็จะช่วยลดความทุกข์ทรมานและสร้างความผาสุกให้กับชีวิตนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กุศลธรรมสามารถทำให้อกุศลธรรมให้เบาบางลงได้”(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๘) “ผลวิบาก(พลังสร้างผล)ของกรรม(การกระทำ)ที่ทำดีทำชั่วแล้ว มีอยู่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ มหาจัตตารีสกสูตรข้อ ๒๕๗) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรม(การกระทำ)อันเป็นไปด้วยสัญเจตนา(ความจงใจ) ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรม(การกระทำ)นั้นแล จะให้ผลในทิฏฐธรรมเทียว(ภพนี้) หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป” (พระไตรปิฎก เล่ม 37 ข้อ 1698) สำหรับอุเบกขาก็คือ เมื่อเราได้ทำสิ่งที่ดีให้ดีที่สุดแล้วอย่างรู้เพียรรู้พัก ก็ปล่อยวางให้ผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามบาปบุญของเราและโลก รวมถึงคนชั่วถ้าเขากลับใจก็ปล่อยวางให้เป็นบุญของเขา ถ้าเขาไม่กลับใจยังทำชั่วต่อก็ปล่อยวางให้เป็นบาปนรกเดือดร้อนทุกข์ทรมานของเขาเอง เมื่อถึงคราวที่เขาต้องรับวิบากบาปจนทุกข์เกินทนก็จะสำนึกเลิกทำชั่วแล้วกลับใจเป็นคนทำดีในที่สุด(เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม) เพราะโดยสัจจะแล้วคนจะทำชั่วได้แค่ทนทุกข์ได้เท่านั้นเมื่อทุกข์เกินทนจะเลิกทำชั่วทุกคน เหมือนกับกรณีเทวทัตวันที่แผ่นดินสูบเกิดความทุกข์ทรมานจนเกินทนจึงสำนึกได้ขอบำเพ็ญความดีตามพระพุทธเจ้า ดังนั้น ไม่ว่าคนจะเลวแค่ไหน เมื่อถึงชาติที่วิบากบาปส่งผลจนทุกข์เกินทนก็จะเลิกทำชั่วกลับใจมาทำดี ซึ่งในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ วิบากดีหรือชั่วก็จะตามส่งผลตลอดเวลาเมื่อส่งผลแล้วก็จะดับไป คนดีที่ทำดีต่อเนื่องหรือคนชั่วที่กลับใจมาทำดีมากๆ วิบากดีนั้นก็จะส่งผลให้ได้พบสัตบุรุษ ได้ฟังสัจธรรม ได้ปฏิบัติจนพ้นทุกข์ และสามารถดับสูญปรินิพพานได้ในที่สุด จะเห็นได้ว่า สุดท้ายทุกอย่างก็ดับไปไม่มีอะไรเป็นของใคร ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้โลกและเราได้อาศัยก่อนที่ทุกอย่างจะดับไปเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น