วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการเสียสละ ของการทำงานฟรี

ประโยชน์ของการเสียสละ ของการทำงานฟรี จะมีอนิสงค์อย่างน้อย ๗ ประการ

ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวผมเอง อาจจะดูไม่งามนักที่ยกตัวอย่างตัวเอง แต่ก็เป็นความจริงที่สุดที่ผมเชื่อถือได้มากที่สุด เพราะสิ่งนั้นเกิดกับตัวผมเอง ผมได้ฝึกทำงานฟรีมา ๑๕ ปี ไม่เอาค่าตอบแทนใดๆมาเป็นของตัวเอง ถ้าเขาให้เราก็เอาเข้ากองบุญ ทุกวันนี้ไม่มีเงินส่วนตัวสักบาท มีศูนย์บาท กรรมการกองบุญเขาให้ก็ใช้ เขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร
ผมได้พบ อานิสงส์(ประโยชน์) ๗ ประการ คือ
๑. ไม่ตกงาน คนจะใช้งานเราอย่างตะบี้ตะบัน ช่วยทำให้หน่อย ต่อให้มีวิชาล้างจานอย่างเดียว เราก็ไม่ตกงาน คนทำงานฟรีจะมีงานทำทุกวันทั้งปีทั้งชาติ
๒. จะพอกินพอใช้ ถ้าเราไปทำงานฟรีๆ ไปช่วยเหลือคนฟรีๆ ไปเข้าบ้านไหน บ้านนั้น บ้านนี้ ไปขอล้าง
จานฟรี เชื่อว่าจะไม่อดตาย แม้ว่าจะไม่ขอของกินของใช้ก็ตาม เชื่อไหมว่าเราจะพอกินพอใช้ กินใช้ไม่หมด ต่อให้เราไม่ต้องขอ ถ้าเราไปล้างจาน เขาจะให้เอง เขาไม่ให้ก็ไม่เอา ผลจากการทำงานฟรีผมอยากให้ท่านลองทายว่า จะเป็นข้อไหน ถ้าเรากินทั้งหมดที่เขาให้โดยไม่ต้องขอของกินของใช้ แต่ถ้าเขาให้ก็เอาเพราะชีวิตก็ต้องกินต้องใช้ ระหว่างอดตายกับพุงแตกตาย จะเกิดผลข้อไหน ผมรับรองว่าพุงแตกตายอย่าว่าแต่พอกินพอใช้เลย จะเหลือกินเหลือใช้ด้วย ซึ่งเป็นอานิสงค์ข้อที่ ๓
๓. เหลือกินเหลือใช้ จะมีคนเอามาให้ตลอด อย่างผมไม่มีปัญญาซื้อรถ ก็จะมีคนเรียกร้องให้ขึ้นรถตลอด ขึ้นเครื่องบิน ขึ้นจนเมื่อยเลย ยิ่งกว่ารัฐมนตรี คนเขาเรียกร้องให้ไปขึ้น ขึ้นจนเมื่อยเลยนะ คนหลายคนเขาคงแปลกๆงงๆ คนนี้ไม่มีรองเท้าใส่ แต่ก็ขึ้นเครื่องบินประจำเลย
                 ที่พอกินพอใช้ เหลือกินเหลือใช้ เพราะคนจะเลี้ยงไว้ ถ้าเราทำงานเสียสละ คนจะเลี้ยงเราไว้ เขาเลี้ยงเอาไว้ใช้งานไง คนอย่างนี้อย่าเพิ่งให้ตาย เขาไม่อยากให้เราตาย เขาจะรักและถนอมเรามาก จะได้ใช้งานนานๆหน่อย เราก็ทำงานเต็มที่ เต็มใจ สุดฝีมือ คนเขาก็ยิ่งชอบ ทำงานฟรี บางทีเราทำงานล่วงเวลา บรรยายจนคนฟังเมื่อยเลย คนฟังแทบแย่ แต่คนพูดยังมีพลังลุยเต็มที่ การทำงานฟรีในอนาคตจะเป็นอาชีพของผู้เสียสละ อาชีพของผู้ฉลาดและผู้ประเสริฐที่แท้จริง
๔. จะมีมิตรเต็มเมือง ผู้ที่ให้จะมีมิตรเต็มเมือง จะมีญาติพี่น้องทางธรรมเยอะไปหมด ตอนนี้ผมไปนอน
จังหวัดไหนก็ได้ ไปจังหวัดไหนก็มีญาติพี่น้องทางธรรมทุกจังหวัด เพราะมาเข้าค่ายทุกจังหวัดแล้ว  ญาติพี่น้องทางธรรมก็ขอให้ผมไปอยู่ไปกินไปใช้ในทรัพย์สมบัติของท่านเหล่านั้น       ทุกจังหวัดทุกเวลา ก็ต้องขอขอบพระคุณในน้ำใจของพี่น้องทางธรรมทุกท่าน แต่ผมก็ไม่มีปัญญา       ไปอยู่ไปกินไปใช้ได้ทั้งหมดทุกที่ ไปได้แค่บางที่บางเวลาที่เหตุปัจจัยจัดสรรให้ได้ไปทำประโยชน์ให้ประชาชนเท่านั้น
๕. แม้เราทำเป็นอย่างเดียว แต่ก็จะได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ ต่อให้คนที่ให้เขามีความสามารถเพียงอย่างเดียว ถ้าเขาเป็นผู้ให้อย่างสุดความสามารถเลยนะ เขาจะได้หลายอย่างเลย    ตรงกันข้ามถ้าคนที่มีความสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่ให้ไม่แบ่งปันใครเลย เขาจะไม่สามารถได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน
               อย่างเรามีความสามารถอย่างเดียว แต่เราไปช่วยคนขับรถ คนสอนหนังสือเป็น คนดำนาเป็น ช่วยคนทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็น เวลาเราเดือนร้อน เขาก็จะมาช่วยเรา ต่อให้ไม่เดือนร้อน เขาก็อยากช่วยเรา นี้เป็นสัจจะ เป็นสังคมศาสตร์ธรรมดา
               แต่ที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็มี คือเมื่อเราให้สิ่งที่ดีไปแล้ว ต่อให้คนๆนั้นไม่ตอบแทนคุณ ถามว่าเราได้ไหม เราได้สิ่งที่ดี ทำความดี ได้วิบากดีแล้ว วิบากดีจะส่งผลดีให้เรา ซึ่งเป็นผลดีหลากหลายรูปแบบที่เราคาดคิดไม่ถึง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ของดี ย่อมได้ของดี” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๔), “ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๕), “ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๖), “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๖), “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓)
                หลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ พอไปทำความดีให้เขาแล้ว เขาไม่ตอบแทนความดีให้เรา แล้วเราก็น้อยใจ เจ็บใจ ฉันอุตส่าห์ทำดีกับเขา เขาก็ไม่ตอบแทนบุญคุณเรา แถมหักหลังเราอีกต่างหาก
                 ความจริงเขายอมให้เราทำความดีกับเขา ก็ต้องขอขอบคุณเขาอย่างมากแล้ว เพราะเราได้ทำดีแล้ว ได้วิบากดีๆ แล้ว รอรับผลดีอย่างเดียวแล้ว คนยอมให้เราทำดีนั้นดีที่สุดแล้ว เราได้ทำแล้ว ได้สั่งสมพลังงานดีแล้ว ทำวิบากดี วิบากดีก็รอส่งผลดีให้เราแล้ว เราจะไปเอาอะไรกับเขาอีก ทำไมเราเป็นคนโลภจัง จะไปเอาอะไรกับเขาอีก ถือเป็นความกรุณาอย่างสูงส่งแล้ว ถือเป็นการสั่งสมพลังงานดี และถ้ายิ่งโดนเขาด่าอีก ยิ่งได้สองต่อ เพราะเราได้รับสิ่งที่ไม่ดีเท่าไหร่ เวรกรรมเราก็หมดเท่านั้นๆ    เขาช่วยทำให้วิบากที่ไม่ดีของเราหมดไป เราจะไปโกรธเขาทำไมล่ะ อย่าไปทุกข์เลย ได้สองต่อเลย ความดีก็ได้ เวรกรรมก็หมด ขาดทุนตรงไหน มีแต่กำไร ทำดีมีแต่กำไร ไม่มีอะไรขาดทุนเลย ชีวิตจะไม่มีอะไรขาดทุนเลย ถ้าทำดีจะมีแต่กำไร ผมยังไม่เคยเห็นอะไรขาดทุนเลย คนไม่ทำดีซิ ไม่ให้   ไม่แบ่งปันใครๆ คนๆนั้นไม่มีกำไรเลยมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว
                 ถามว่า ถึงเรามีความสามารถหลายอย่างมากมาย แต่ไม่เคยให้ใครเลย ถามว่าเราสามารถทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เรามีความสามารถมากมาย      แต่ไม่เคยให้เลย เราก็จะไม่ได้ในสิ่งดีที่ควรได้ คนที่ให้คือคนที่ได้” “คนที่ไม่ให้คือคนที่ไม่ได้คนโง่ที่แท้จริง คือ คนที่มีความสามารถแต่ไม่เคยให้ใคร ก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คุณก็จะซวยตลอด นี่เป็นสัจจะนะ ฟังยากนะ มีโรงเรียนไหนสอนแบบนี้มั๊ย ส่วนใหญ่มีแต่จะสอนให้มีอาชีพสังคมบอกว่าสูง ค่าตอบแทนเยอะๆ สอนให้รวย มาที่นี่นะสอนกลับกันเลย ที่นี่สอนว่า ทำอย่างไรจะจนได้ ลูกศิษย์ผมมุ่งมาจนทั้งนั้น สอนวิชาจน อย่างมีชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก นี่เป็นสัจจะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
๖. ธุรกิจจะมั่นคง ไม่ว่าจะทำธุรกิจที่เป็นสัมมาอาชีพอะไร ธุรกิจนั้นจะมั่นคง ทำไมถึงมั่นคง เพราะคนที่เราเกื้อกูลไว้เขาจะช่วยไว้ จะไม่ให้ล้ม เช่น เรามีร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ร้านสิ้นค้า/บริการเล็กๆ แล้วมีห้างร้านทุนนิยมใหญ่ๆ  มาตั้งข้างบ้าน เราจะไล่เขาได้มั๊ย ไม่ได้ แต่ละจังหวัดยกธงไล่ทั้งนั้น ไล่ได้แต่ปาก แต่เขาไม่ไป เขาซื้อกรรมการ ซื้อผู้มีอำนาจเซ็นอนุมัติได้หมดแล้วเซ็นปุ๊บลงกลางเมืองเลยนะ ชาวบ้านที่ค้าขายสิ้นค้าและบริการที่เล็กๆก็เกิดความตกใจกลัว เพราะเขา ไม่รู้วิธีสู้กับทุนนิยม สู้กับทุนนิยมนั้นไม่ยากหรอก ก็อยู่แบบคนจน ถ้าเราไม่มีทุนมากเราจำเป็นต้องขายของแพงกว่าร้านใหญ่ๆบ้าง แต่เราไม่ได้เอามากเกินไป มันจำเป็น             เราไม่อยากขายแพงหรอก เราก็บวกเท่าที่เราพออยู่ได้ มันก็สูงกว่าร้านยักษ์ใหญ่/นายทุนใหญ่ๆ ถามว่าร้านเราจะเจ้งมั๊ย ไม่เจ้ง เพราะคนที่เราเกื้อกูลไว้ เขาจะเกื้อกูลเรา เขาจะช่วยเราไว้  เขาบอกว่าให้เราเจ้งไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้มีน้ำใจให้เขา ถ้าเราให้ แบ่งปัน ร้านเราก็ ไม่เจ้ง เราจะอยู่กับทุนนิยมได้
๗.ชีวิตมั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก เมื่อเรามีคุณธรรมถึงขั้นพึ่งตน เรียบง่าย ประหยัด ขยัน และแบ่งปันแล้ว เราจะเป็นคนที่มีคุณค่า มีความประเสริฐ มีกุศล มีความสุข นั่นคือ ชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
                      หลายคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ชีวิตพอเพียงอย่างผาสุก นักวิชาการจำนวนมากที่ไม่รู้จริง เขาทำไม่ได้หรอก เพราะเขายังไม่รู้เคล็ดแท้ ๆ ที่ผมพาพี่น้องทำ ค่อย ๆ บอกเคล็ดมาตั้งแต่วันแรก คือ กินข้าวกับเกลือ ความเป็นจริงก็ไม่ใช่กินข้าวกับเกลืออย่างเดียวหรอกใช่ไหม กินอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย เป็นการใช้ชีวิตที่กินอยู่อย่างประหยัดเรียบง่าย เป็นการกินใช้ที่น้อยที่สุดแต่สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่น้อยเกินจนขาดแคลน ไม่มากเกินจนสิ้นเปลืองและเป็นภัย เคล็ดของการทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงของเรา เราเน้นการสร้างสุขภาพที่ดี ก็ต้องทำทุกเรื่องที่สำคัญของชีวิต การกินการใช้สิ่งต่าง ๆ รวมถึงการทำหน้าที่กิจกรรมการงานที่ดีงามอันเป็นกุศลและการพักผ่อนที่ได้สมดุลกายใจ และสิ่งแวดล้อม มันเป็นวิชาทักษะของการดำเนินชีวิตให้ผาสุก     

คนพอเพียง


 คนพอเพียง
              คนพอเพียง จะเลี้ยงชีพด้วยการให้ แบ่งปัน เสียสละ จึงทำให้ชีวิตเป็นอยู่อย่างคนจน เพราะยิ่งให้ แบ่งปัน เสียสละ ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิตออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหลือทรัพย์สมบัติของกินของใช้ส่วนตัวน้อยลงเท่านั้นๆ    ถ้ามองเผินๆการปฏิบัติดังกล่าว น่าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ ลำบาก ขาดแคลน เสียเปรียบ โง่ที่สุดในโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ขยันทำกิจกรรม/การงาน/กุศลธรรม/สิ่งที่ดีงามต่างๆอย่างเต็มที่ ตัวเองก็กินน้อยใช้น้อยแค่พอดีสบาย ไม่มากหรือน้อยเกินจนทรมานตน เก็บสิ่งที่จำเป็นไว้เท่าที่จะสามารถดำเนินหน้าที่กิจกรรมการงานไปได้ ที่เหลือทำการให้ แบ่งปัน เสียสละ ไปในบุคล/สถานที่ที่ควรให้ อันเป็นคุณสมบัติ/คุณลักษณะของคนพอเพียงที่แท้จริง กลับเป็นสุดยอดแห่งความชาญฉลาดของการปฏิบัติตน ที่ทำให้ชีวิตมั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก
              พระพุทธเจ้า ในหลวง และปราชญ์แห่งความดีงามที่แท้จริงแต่ละท่าน ล้วนเป็นต้นแบบของคนพอเพียงที่แท้จริง เพราะแต่ละท่านล้วนขยันกระทำในสิ่งที่ดีงาม แต่กินใช้ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย
              ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวธรรมของภิกษุ (ผู้ปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์) ซึ่งเป็น   ผู้สันโดษ (ยินดีในความมักน้อยอย่างพอเหมาะ) อยู่เสมอ ด้วยปัจจัย (สิ่งที่จำเป็นในการยังชีพ)ที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ว่าเป็นองค์ (องค์คุณองค์ประกอบ) แห่งความเป็นสมณะ (ผู้สงบจากทุกข์ผู้พ้นทุกข์)” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘๑)
              จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าค้นพบว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องใช้สิ่งจำเป็นในการยังชีพที่น้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ดังนั้น วิธีการที่ประหยัด เรียบง่าย จึงเป็นคำตอบของการพ้นทุกข์พระองค์ท่านทรงค้นพบว่า การดับทุกข์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้สิ่งที่หาได้ง่าย อยู่ในตัวหรือใกล้ตัวเรามาปรับสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ
              สอดคล้องกับพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง (๔ ธ.ค.๓๔) เราเลยบอกว่า ถ้าจะแนะนำก็แนะนำได้ ต้องทำแบบ คนจนเราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้                          แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว
              “แต่ถ้าเรามีการบริหาร แบบเรียกว่าแบบ คนจนแบบไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากันก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้น เขาบอก อนาคตยังมี”  แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา ปิดตำราแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ ตำราแบบ คนจนใช้ความอะลุ่มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้าเรื่อยๆ
              จะเห็นได้ว่า ในหลวงทรงพบว่า การแก้ปัญหาหรือพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดนั้น ต้องกระทำอย่างประหยัดที่สุดคือใช้เงินหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้น้อยที่สุด (ทำแบบ คนจน) แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
              เมื่อส่วนตัวกินใช้เพียงเล็กน้อย ทำกิจกรรมการงานด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่ายที่สุด แต่เกิดประโยชน์สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็เหมือนกับการใช้ชีวิตแบบคนจน ที่เหลือก็แบ่งปันเกื้อกูลผู้อื่น   ก็จะทำให้เราและผองชนได้ประโยชน์สุขในชีวิต  
              ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ให้ของดี ย่อมได้ของดี” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๔), “ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๕), “ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”(องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๖), “ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ” (องฺ.ปญฺจก. เล่ม ๒๒ ข้อ ๔๖), “นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๗๓)  ซึ่งเราต้องทำสิ่งดังกล่าวด้วยตัวของเราเอง ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒)
             ดังนั้นการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ มีคุณค่าและผาสุก ก็คือชีวิตที่เกิดมาเพื่อพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์ นี้คือคุณค่าแท้ของชีวิต ดังนั้น ภารกิจที่ดีที่สุดในโลก คือ   ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตตนมีความผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย แล้วทำให้เพื่อนร่วมโลกผาสุกอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย เท่าที่จะทำได้
            มีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์จากดุริยางศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาคุยกับผมว่าที่หมอเขียวมาบ่นๆว่าโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ไม่ค่อยได้สอนเรื่องความผาสุกที่แท้จริงเลย อาจารย์ท่านนั้นก็เล่าให้ผมฟังว่า ก็มีหลายท่านพยายามทำอยู่ เราก็ดีใจนะ มีหลายท่านพยายามทำอยู่ ไม่ใช่เราทำคนเดียว มีคนบุญมีเทวดามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ อาจเพราะหูตาเราไปไม่ถึงก็ได้ จริงๆก็พอเห็นอยู่บ้าง แต่ผู้ที่จะสอนวิชาให้คนผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นมีน้อย เพราะแต่ละท่านที่ทำอยู่มันจะยากมาก แต่สอนวิชาให้เก่งนั้นง่ายและมีมาก แต่เมื่อไม่มีคุณธรรมแล้ว ความเก่งจะเป็นความโง่ที่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น                        คนที่ไม่มีคุณธรรม เขาจะเอาความเก่งมาทำร้ายตัวเองและสังคม ไม่มีประโยชน์อะไร    เก่งแล้วไร้ค่า  ถ้าไม่มีคุณธรรม ความจริงแย่กว่าไร้ค่า เพราะเลวร้ายกว่าไร้ค่า
               วันนี้ผมจะพูดถึงชีวิตที่มีความผาสุกอย่างยั่งยืนว่าจะทำได้อย่างไร ลองปฏิบัติพิสูจน์ดู การทำความดีจะทำให้ได้ความผาสุกที่ยั่งยืน ความดีที่สำคัญอันหนึ่งคือความจน ความจนคือสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ชีวิตใครจนได้ ชีวิตนั้นมีความผาสุกได้ ชีวิตใครจนไม่ได้ ชีวิตนั้นก็ไม่มีความผาสุกที่แท้จริง
                 ครูบาอาจารย์ของผมยกให้ในหลวงองค์นี้ เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะมาบำเพ็ญให้ผองชนมีความผาสุกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ในเมื่อท่านมาบำเพ็ญเพื่อให้มนุษย์เป็นอยู่อย่างผาสุก แล้วทำไมท่านตรัสเรื่องความจนเอาไว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การใช้สิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย จะทำให้พ้นทุกข์ ก็แปลว่าจนนั่นแหละ ซึ่งสอดคล้องกับที่ในหลวงตรัสไว้ ต้องทำแบบคนจน ประหยัด ไม่ต้องกินใช้มากก็ได้ ถ้าพี่น้องฟังเข้าใจจะเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย
                       จนแบบในหลวงน่ะ จนแบบมีอยู่มีกินนะ ไม่ใช่ไม่มีอยู่ไม่มีกิน ไม่ใช่จนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก หลายคนเข้าใจว่าเป็นความจนแบบสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่ใช่นะ เป็นความจนอีกแบบ จนแบบมีอยู่มีกิน   เหลืออยู่เหลือกิน(มีเหลือแบ่งปัน) จนแบบมีความสุขที่สุดในโลก สุขกว่าคนรวย สุขกว่าคนจนที่สิ้นไร้ไม้ตอก สุขกว่าคนที่มีฐานะปานกลางแบบทั่วไป สุขแบบคนจนที่ไร้กังวล เป็นคนจนที่มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก
                         “อุตสาหกรรม ถ้ามีมากเกินไปจะเป็นภัยในหลวงท่านตรัสเลยว่า ประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้ามากเกินไปมีปัญหาแน่ๆ ไม่ใช่จะไม่มีอุตสาหกรรมเลยนะ ให้มีแบบสมควร แต่ถ้ามีมากไปจะเป็นภัยเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ที่เขาไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็เพราะว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร นักวิชาการทั้งหลายที่เด่นๆ อยู่ในโลก เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาจึงเปิดๆ ปิดๆ ตำราอยู่นั่นแหละ เพราะเป็นตำราที่แก้ทุกข์ไม่ได้นั่นแหละแบบเก่า แต่ในหลวงท่านตรัสว่า ถ้าใช้ตำราแบบคนจน ใช้แบบอลุ่มอล่วยกัน จะก้าวหน้าเรื่อยๆ 

จนอย่างผาสุกด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ
                        ทำไมในหลวงผู้เป็นประมุขของประเทศจึงมีปรัชญาแนวคิดนโยบายให้ประชาชนมาจน แล้วบอกว่าจะก้าวหน้าเรื่อยๆ ถ้าคนฟังไม่เข้าใจ จะหูหักเลยจริงๆ แล้วบอกว่ามาจนนะดี ถ้าจนอย่างมีคุณค่าและผาสุกคือ จนอย่างมีชิวิตที่มั่นคง มีคุณค่าและผาสุก ซึ่งเป็นคนจนอีกประเภทหนึ่งที่ในระบบปกติทั่วไปไม่รู้ จึงไม่สอนกัน แต่ถ้าใครทำได้จะมีความสุขที่สุดในโลก จนอย่างไร คือ ฝึกให้และฝึกทำงานฟรี ซึ่งเป็นคนจนที่มีคุณสมบัติ/คุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่
๑. พึ่งตน พึ่งตนในปัจจัย ๔ ได้ พึ่งตนในการดับทุกข์ของตัวเองได้
๒. เรียบง่าย มีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่รบกวนใคร ไม่รบกวนโลก สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตหรือให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมการงาน จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เขาจะอยู่ได้อย่างผาสุก
๓. ประหยัด จะกินน้อยใช้น้อย เท่าที่จะไม่ขาดแคลน ไม่ทรมานตน หรือเท่าที่จะสมบูรณ์แบบที่สุด
๔. ขยัน เพียรเต็มที่และพักพอดี
๕. แบ่งปัน จากการปฏิบัติคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือ พึ่งตน เรียบง่าย ประหยัด ขยัน จะทำให้มีเหลือ ในส่วนเหลือถ้าเก็บเอาไว้จะเป็นภาระเป็นภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แต่ถ้าแบ่งปันออกไปก็จะเป็นบุญทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คุณสมบัติ/คุณธรรมข้อนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตความสุขมากที่สุด  และเป็นหลักประกันที่แท้จริงของความมั่นคงในชีวิต
                 “ความสุขที่ซื้อไม่ได้ คือการแบ่งปัน/เสียสละคุณจะไม่มีความรู้สึกสุขแบบนี้ได้เลย ถ้าคุณไม่แบ่งปัน คือแม้คุณจะมีเงินเป็นล้านๆ แต่คุณก็จะไม่มีความสุข หรือได้ความรู้สึกว่าสุขที่สุดได้เลย ถ้าไม่แบ่งปัน คุณจะไม่มีความสุขเลย ต้องให้ จนไม่มีอะไรจะเอาจึงจะเกิดสภาพ ให้ จนไม่มีอะไรจะทุกข์ชีวิตที่มั่นคง คือ ชีวิตที่ให้และเสียสละอย่างแท้จริง
                 เรามาเรียนรู้ว่า ผู้ที่ให้จะมีความสุขอย่างไร ผู้ที่ให้จะยิ่งมีความสุขที่สุดในโลก ผู้ที่ให้คือผู้ทำงานฟรี อาชีพทำงานฟรี คือ เป็นอาชีพที่ดีที่สุดในโลก เป็นอาชีพที่มั่นคง  มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลก

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

หมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน): จิตใจเกี่ยวข้องกับการหายหรือไม่หายโรคอย่างไร

แพทย์วิถีธรรม: จิตใจเกี่ยวข้องกับการหายหรือไม่หายโรคอย่างไร

จิตใจเกี่ยวข้องกับการหายหรือไม่หายโรคอย่างไร

ความไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล จะทำให้โรคทุเลาหรือหายได้เร็ว ตายได้ยาก และจิตใจเป็นสุขที่สุดในโลก ส่วนความกลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวล จะทำให้โรคทรุดหนัก กำเริบหนัก ตายได้เร็ว และจิตใจเป็นทุกข์ที่สุดในโลก
ผู้เขียนพบว่า เมื่อคนมีความกลัวตาย กลัวโรค เร่งผล กังวล จิตจะไม่ต้องการอารมณ์ทุกข์ดังกล่าว จึงสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติไขสันหลัง สั่งการให้กล้ามเนื้อในร่างกายของผู้นั้นเกร็งตัวบีบเอาอารมณ์ทุกข์นั้นออกไป แต่โดยสัจจะแล้วร่างกายไม่สามารถบีบความทุกข์ออกจากจิตใจได้ จิตใจที่มีปัญญาทางธรรมที่แท้เท่านั้น จึงจะสามารถล้างทุกข์ในจิตใจได้
ดังนั้น ตราบเท่าที่ความทุกข์ทางใจไม่ถูกกำจัดออก กล้ามเนื้อก็จะเกร็งค้างเพื่อบีบความทุกข์ใจออก แต่กายก็เกร็งบีบเอาความทุกข์ใจออกไม่ได้ จึงเกร็งบีบค้าง เพราะชีวิตไม่ต้องการทุกข์ใจ การเกร็งบีบค้างของกล้ามเนื้อ จะกดทับเส้นเลือด เส้นประสาท   และเส้นลมปราณ เกิดอาการตึงแข็งปวดชา และทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ได้ ของดีเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ ของเสียไหลเวียนออกจากเนื้อเยื่อไม่ได้ ทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมและตายลง เกิดอาการกำลังตกอ่อนเพลียหมดเรี่ยวหมดแรง เพราะเสียพลังในการเกร็งตัวขับอารมณ์ทุกข์ และเลือดลมก็ไหลเวียนไม่ได้  ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ โรคทรุดหนักและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
ดังตัวอย่างของความจริงที่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ เช่น บางคนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ แต่ไปตรวจร่างกาย แล้วหมอก็บอกว่าพบโรคร้ายแรง คาดว่าจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ ๖ เดือน   แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีอายุไม่ถึง ๖ เดือน เช่น เสียชีวิตทันทีที่รับรู้ข้อมูล (ช็อคตาย) หรือภายในหนึ่งเดือน/สองเดือน/สามเดือนก็ตายแล้ว เป็นต้น หรือชีวิตปกติไม่มีอาการอะไร แต่พอรับรู้ข้อมูลเรื่องโรคที่พบ ก็เกิดอาการทรุดหนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับอย่างรวดเร็ว สิ่งเลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากโรคเลย แต่เกิดจากจิตใจที่มีอารมณ์ทุกข์ล้วนๆ
ตรงกันข้าม เมื่อจิตใจไม่มีอารมณ์ทุกข์ จิตใจก็จะเป็นสุข จิตก็จะสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติไขสันหลังสั่งการให้กล้ามเนื้อคลายการเกร็งบีบ เพราะไม่มีอารมณ์ทุกข์ที่จะต้องบีบออก เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว เลือดลมก็จะไหลเวียนสะดวก ของดีเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ ของเสียระบายออกจากเนื้อเยื่อได้ ประกอบกับสารเอนโดรฟิน ก็จะหลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิทารี ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายแข็งแรงได้อย่างรวดเร็วและระงับอาการปวดได้ดีมาก กลไกดังกล่าวทำให้อาการตึงแข็งปวดชาหรืออาการไม่สบายต่างๆ นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายก็จะฟื้นฟูสภาพได้อย่างรวดเร็ว
ผู้เขียนพบว่า มีประชาชนจำนวนมากที่มีอาการทรุดหนัก ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง  แต่ก็ฟื้นสภาพร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ภายในเสี้ยววินาทีก็มี ใช้เวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนก็มี เมื่อสามารถทำจิตใจให้ไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล ด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในคนนั้นคนนี้ หรือเชื่อมั่นในสัจจะที่แท้จริง
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจิตใจที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ว่ามีผลต่อสุขภาพมากแค่ไหน เช่น ผู้ป่วยที่อาการย่ำแย่ทรุดหนักหลายท่านที่ศรัทธา(เชื่อมั่น)ในผู้เขียน เมื่อรู้ว่าจะได้มาหาผู้เขียนหรือจะได้มาเข้าค่าย ร่างกายก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มาหรือเพิ่งกำลังเดินทางมา สิ่งที่ดีนั้นล้วนเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากผู้เขียน หรือในช่วงแรกๆที่ผู้เขียนเปิดศูนย์สุขภาพ ได้รับผู้ป่วยหนักไว้ดูแล (ปัจจุบันไม่ได้รับแล้วเนื่องมีภารกิจมากจนเกินกำลังที่จะรับผู้ป่วยหนักไว้ได้) ถ้าผู้เขียนอยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้เขียนไม่ได้ไปทำอะไรให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าผู้เขียนไปทำภารกิจนอกศูนย์สุขภาพเพียงหนึ่งวัน หรือบางครั้งก็หลายวัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะอาการทรุดหนักหรือเสียชีวิต
อาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลงของผู้ป่วยดังกล่าวนั้น ล้วนเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองทั้งสิ้น คือ ถ้าผู้เขียนอยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยก็จะมั่นใจ สุขใจ ไม่กลัว ไม่กังวล อาการจึงดีขึ้น แต่ถ้าผู้เขียนไม่อยู่ในศูนย์สุขภาพ ผู้ป่วยก็จะไม่มั่นใจ ทุกข์ใจ กลัว  กังวลใจ อาการจึงแย่ลง 
จะเห็นได้ว่า จิตใจมีผลต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “จิตวิญญาณเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง จิตเป็นใหญ่” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑)
ดังนั้น แทนที่จะให้ผู้ป่วยมายึดมั่นถือมั่นในตัวผู้เขียน ซึ่งชีวิตของผู้เขียนก็ไม่เที่ยง   ไม่แน่นอนว่าเวลาใดจะอยู่ที่ไหนไปที่ไหนหรือจะเป็นจะตายตอนใด ผู้เขียนจึงเน้นให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในสัจจะที่พาพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ สมดุลร้อนเย็น(พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อที่ ๒๙๓) หยุดชั่ว ทำดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส ไร้ทุกข์ ไร้กังวล (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๕๔) แล้วพากเพียรปฏิบัติให้มีสัจจะนั้นในตัวเอง  ผู้นั้นเองก็จะมีที่พึ่งแท้ที่ดีที่สุดตลอดกาลนาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลาย มีจิตนำหน้า” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑) , “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔), “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๖๔)
“ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒)
จะเห็นได้ว่า ทุกข์ย่อมไม่มีในผู้ไร้กังวล
จากการวิจัยของผู้เขียนในระดับปริญญาโทสาขาพัฒนบริการศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เรื่องความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง   สวนป่านาบุญ  อำเภอดอนตาล  จังหวัดมุกดาหาร พบว่า  จิตใจมีผลต่อสุขภาพ ๗๐% ส่วนวัตถุมีผลต่อสุขภาพ ๐%
จะเห็นได้ว่า  จิตใจมีผลอย่างมากต่อสุขภาพ
            พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องสาเหตุของการมีอายุสั้น อายุยืน โรคมากและโรคน้อย ดังข้อความในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๘๐-๕๘๕ ดังนี้
            ข้อ ๕๘๐ สุภมาณพ โตเทยยบุตร พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีต คือ มนุษย์ ทั้งหลายย่อมปรากฏมีอายุสั้น มีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทราม มีผิวพรรณงาม มีศักดาน้อย มีศักดามาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในสกุลต่ำ เกิดในสกุลสูง ไร้ปัญญา มีปัญญา ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญอะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกมนุษย์ที่เกิดเป็นมนุษย์อยู่ ปรากฏความเลวและความประณีตฯ
            ข้อ ๕๘๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯ
            จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่แต่ละคนรับอยู่ เกิดจากกรรม(การกระทำ) ของคนๆ นั้นทั้งหมด
            ข้อ ๕๘๒ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือดหมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต จะเป็นคนมีอายุสั้น...
            ข้อ ๕๘๓ ดูกรมาณพ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตรา (อาวุธหรือวิชาเข่นฆ่า)ได้ มีความละอาย(ต่อบาป) ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่... จะเป็นคนมีอายุยืน...
            ข้อ ๕๘๔ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน) ... จะเป็นคนมีโรคมาก...
            ข้อ ๕๘๕ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา (อาวุธหรือวิชาที่เบียดเบียน)... จะเป็นคนมีโรคน้อย...
ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก (ขุ.ธ. เล่ม ๔ ข้อ ๖)
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ส่วนการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อยและอายุยืน
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๕๙), ละทุกข์ทั้งปวงได้    เป็นความสุข (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๓)

ดังนั้น การที่จะมีสุขภาพดีหรือทำให้ความเจ็บป่วยลดน้อยลงจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือลดละเลิกพฤติกรรมที่ทำให้ภาวะร้อนเย็นของร่างกายไม่สมดุลหรือทุกข์เบียดเบียน และทำพฤติกรรมที่ทำให้ภาวะร้อนเย็นของร่างกายสมดุลหรือไม่ทุกข์ไม่เบียดเบียนทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ
ดังนั้นการทำใจไม่ให้มีทุกข์ คือ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวโรค ไม่เร่งผล ไม่กังวล เป็นการไม่เบียดเบียนตนด้านจิตใจ จึงเป็นการรักษาโรคที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง