เทคนิคการทำใจให้หายโรคเร็ว

เทคนิคการทำใจให้หายโรคเร็ว มีวิธีการทำใจในการปฏิบัติ ๔ ประการดังต่อไปนี้
๑.             อย่ากลัวตาย
๒.            อย่ากลัวโรค
๓.            อย่าเร่งผล
๔.            อย่ากังวล
           ซึ่งสามารถขยายรายละเอียดในแต่ละประการได้ดังต่อไปนี้
     .   อย่ากลัวตาย
ความไม่กลัวคือยากำจัดโรคที่ดีที่สุดในโลกและออกฤทธิ์เร็วที่สุดในโลก ส่วนความกลัวคือยาพิษที่ร้ายที่สุดในโลกและออกฤทธิ์เร็วที่สุดในโลก  ถ้าท่านใดที่สามารถทำใจไม่กลัวในทุกเรื่องได้จริงๆ รวมถึงการไม่กลัวตายด้วย ก็จะมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นจริงๆ เรื่องจิตวิญญาณนี้ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์   ผู้เขียนไม่เคยเห็นอะไรที่มหัศจรรย์ยิ่งใหญ่อย่างนี้มาก่อนเลย
การไม่กลัวตาย วิธีปฏิบัติก็คือ ให้หมั่นพิจารณาความจริงว่าป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย ความตายเป็นสมบัติของทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้าที่ประเสริฐที่สุดในโลก เก่งที่สุดในโลกท่านยังต้องต้องตายเลย ในเมื่อป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย จะกลัวให้มันตายเร็วทำไม กลัวให้มันทรุดหนักทำไม กลัวให้มันทุกข์ใจทำไม
เราก็หมั่นพิจารณาซ้ำไปซ้ำมาๆๆๆๆ เราจะเข้าใจชัดเจนว่า ความกลัวในอะไรก็ตาม มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว ความกลัวไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเราไม่กลัว ใจก็ไม่เป็นทุกข์ อยู่ก็ไม่ทุกข์ใจ ตายก็ไม่ทุกข์ใจ ก็แปลว่าอยู่เป็นสุข ตายเป็นสุข ดังนั้นประโยชน์ในประการแรกคือ ใจเป็นสุขที่สุด ประการที่สอง คือ ทำให้โรคทุเลาหรือหายได้ดีที่สุด และประการสุดท้าย คือ ตายได้ยากหรือตายช้า
ความไม่กลัวตายนี้แหละเป็นประโยชน์กว่า พิจารณาซ้ำไปซ้ำมาๆๆๆๆ จิตนี่เขาฉลาดและมีพลัง ถ้าเราพิจารณาซ้ำไปซ้ำมาๆๆๆๆ จะเป็นการเติมปัญญาและพลังให้กับจิต เมื่อปัญญาที่ถูกต้องเป็นประโยชน์แท้มีพลังมากพอ ก็จะทำลายพลังปัญญาหรือความคิดที่เป็นโทษ แล้วจิตก็จะเลือกเอาเลือกเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์เอง
เรื่องอะไรจะไปเอาสิ่งที่เป็นโทษ กลัวตายเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะทำให้ใจเป็นทุกข์ โรคก็กำเริบหนัก ทรมานกายมากขึ้น และทำให้ตายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ส่วนความไม่กลัวตายนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทำให้ใจก็ไม่เป็นทุกข์จากความกลัวตาย โรคก็ทุเลาหรือหายได้เร็ว ตายก็ตายได้ยาก
ดังนั้นเราเอาความไม่กลัวตายดีกว่า  เพราะทำให้ไม่ทุกข์ใจ ทุเลาหรือหายเจ็บป่วยได้เร็วและตายช้า คุ้มกว่า จิตนี่สำคัญ เป็นยาเม็ดเอกเลย
ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนร่างจากที่ทรุดโทรมทุกข์ทรมานมากแล้ว ให้เราไปเอาร่างใหม่ที่ดีกว่าเดิมเท่านั้น จริงๆ เมื่อเราเปลี่ยนไปเอาร่างใหม่ก็ดีแล้ว จะไปทุกข์ใจทำไม
ผู้ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องเกิดใหม่อยู่แล้ว ไม่ต้องไปกลัวหรอกว่าจะไม่ได้เกิด ส่วนพระอรหันต์ท่านจะกลับมาเกิดอีกเพื่อบำเพ็ญโพธิสัตว์ต่อ หรือจะปรินิพพานดับสูญก็สิทธิของท่าน สำหรับคนทั่วไปนั้นต้องกลับมาเกิดอยู่แล้ว เพราะยังมีกิเลสอยู่ อยากได้ อยากมี อยากเป็น เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ยังหลงทุกข์หลงสุขอยู่ จิตวิญญาณก็จะรวมตัวเอาดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเป็นตัวตน เป็นตา หู จมูก ปาก ลิ้น กาย ใจ เพื่อจะไปเสพในสิ่งที่ผู้นั้นๆ ชอบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว ตายก็แค่เปลี่ยนร่างใหม่ จากร่างเก่าที่ทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่ที่ดีกว่าเดิม อยู่ที่ว่าจะได้ร่างคนหรือร่างสัตว์เท่านั้นเอง ก็แล้วแต่กรรมของผู้นั้นๆ ที่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไว้  
จะได้ร่างคนหรือร่างสัตว์ก็ตาม อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์เท่ากับร่างเก่าที่ทรมานอยู่  ถ้าเราดูแลร่างกายอย่างเต็มที่แล้ว ร่างกายก็ยังทรุดโทรมอยู่อีก ยังแย่อยู่อีก ก็ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ก็คืนโลกไป จะไปลำบากตรงไหน ร่างที่ยืมมามันเก่าแล้ว มันเป็นทุกข์ ทนได้ยากทนได้ลำบากแล้ว ก็คืนโลกไป แล้วก็ไปเอาร่างใหม่ที่ดีกว่าเดิม ก็อาศัยร่างใหม่ไป แล้วถ้าร่างใหม่ทรุดอีก แย่อีก จะทำอย่างไร ก็คืนโลกไป แล้วก็ไปเอาร่างใหม่อีกที่ดีกว่าเดิม มันก็เป็นอยู่เท่านี้ จะต้องไปกลัวอะไรกับความตาย
ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนได้บอกไว้ว่า คนเราตายมาตั้งไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว ยังจะกลัวอยู่อีกทำไม ซ้อมตายมาตั้งเท่าไหร่ๆแล้ว ยังไม่ชินหรืออย่างไร ความจริงเรายังไม่เคยตายอย่างเป็นสุขเท่านั้นเอง มันก็เลยกลัวๆ ถ้าเรารู้วิธีตายอย่างเป็นสุข อยู่อย่างเป็นสุข เราจะไม่กลัว แค่คิดว่าพอร่างทรุดก็คืนโลกไป แล้วก็ไปเอาร่างใหม่มาใช้
ถ้าไม่อยากได้ร่างสัตว์ แต่อยากได้ร่างคนจะทำอย่างไร ก็ให้บำเพ็ญบุญมากๆ เท่านั้นเอง ถ้าเราเข้าใจจะไม่ทุกข์ใจเพราะฉะนั้น อย่ากลัวตาย จำไว้นะ พอไม่กลัวตาย โรคก็จะทุเลาอย่างรวดเร็วเลย
เราก็ปรับสมดุลด้านวัตถุร่วมด้วยอยู่แล้ว แค่ใช้วัตถุอย่างเดียวก็ลดโรคได้เร็วอยู่พอสมควรแล้วสำหรับการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม เพราะเราได้ทดลองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร หรือยาเม็ดอื่นๆในยา ๙ เม็ด(วิธีปฏิบัติ ๙ ข้อ ตามหลักแพทย์วิถีธรรม)ก็ตาม สามารถถอนพิษได้เร็ว 
.      อย่ากลัวโรค
โรคไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว การกลัวโรคจะทำให้โรคกำเริบหนัก แต่การไม่กลัวโรค       จะทำให้กำจัดโรคได้อย่างดี การไม่กลัวโรคจะเป็นยาทำลายโรค ผู้เขียนทดลองมาแล้ว  การไม่กลัวโรค จะทำให้โรคลดน้อยลง การไม่กลัวโรคจะฆ่าโรค  แต่ถ้าเรากลัวโรค โรคจะฆ่าเรา นี่คือสัจจะเป็นจริงตลอดกาล
ท่านพิสูจน์ได้ เพราะถ้าท่านไม่กลัวโรค จิตก็จะไม่ทุกข์จากโรค ท่านจะไม่ทุกข์ใจ เมื่อไม่ทุกข์ใจ ก็ไม่เบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การไม่เบียดเบียดเบียนจะทำให้โรคน้อยลง” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๕๘๕) และพระพุทธเจ้าตรัสว่า วิมุติ (การหลุดพ้นจากทุกข์) เป็นกำลัง (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๑ ข้อ ๖๒๙)  ท่านจะมีกำลังฆ่าโรคเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
โรคไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ต้องไปกลัวโรค โรคหายอยู่แล้ว ไม่หายตอนเป็น ก็หายตอนตาย อย่าไปกลัวเลย จะไปกลัวทำไม จะกลัวให้ทรุดหนักทำไม จะกลัวให้ตายเร็วทำไม จะกลัวให้ทุกข์ใจทำไม
ถ้าไม่กลัว ก็ไม่ทรุดหนัก การไม่กลัวช่วยให้โรคทุเลาได้ดีที่สุด ถ้าไม่กลัวก็ไม่ตายเร็ว (ตายยาก/ตายช้า/ยืดอายุได้ดี) ถ้าไม่กลัวก็ไม่ทุกข์ใจ ไม่ต้องไปกลัวโรคหรอก โรคหายอยู่แล้ว ถ้าไม่หายตอนเป็น ก็หายตอนตาย
โรคไม่ชนะเราหรอก อย่าไปกลัว ระหว่างโรคกับเรา เรามีแต่ชนะกับเสมอเท่านั้น ถ้าเราสามารถทำลายโรคได้ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ ก็แสดงว่าเราชนะโรค  แต่ถ้าเราทำลายโรคไม่ได้ เราก็ตายและโรคก็ตายด้วย ก็เสมอกัน
โรคเป็นเพียงความไม่สมดุลเท่านั้น ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทุกข์เกิดจากความโต่ง/ความไม่สมดุล ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือ กามสุขลิกะ อีกด้านหนึ่ง คือ อัตตกิลมถะ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๖๖๔)
ดังนั้นโรคซึ่งเป็นทุกข์ก็เกิดจากความไม่สมดุล มันโต่งไป ๒ ด้าน ด้านหนึ่งจิตหลงรูปธรรม/วัตถุ (กามสุขลิกะ จิตหลงติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย)   อีกด้านหนึ่งจิตหลงนามธรรม (อัตตกิลมถะ จิตหลงทรมานตนด้วยนามธรรม คือ หลงทำชั่ว หลงไม่ทำดี     หลงทำจิตใจให้เศร้าหมอง)
หลักในการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ การดับทุกข์ที่ต้นเหตุ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๕๙)  ก็คือ อย่าไปหลงเอาวัตถุที่เป็นพิษเป็นโทษมาใส่เรา/ให้เอาออกไป แล้วเลือกเอาวัตถุที่เป็นประโยชน์มาใส่เรา และเลือกเอาจิตที่ติดนามธรรมที่เป็นโทษออกไป (หลงทำชั่ว หลงไม่ทำดี หลงทำจิตใจให้เศร้าหมอง) แล้วเอาจิตที่ถูกต้องเป็นประโยชน์มาใส่แทน(หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจผ่องใส) เท่านี้โรคก็จะทุเลาหรือหาย
รักษาโรคไม่ยากเลย เพียงแค่เอาวัตถุที่เป็นประโยชน์มาใส่ เอาจิตที่เป็นประโยชน์มาใส่ เพียงเท่านี้เอง โรคเป็นเพียงความไม่สมดุล พระพุทธเจ้าท่านพบสัจจะว่า เมื่อใดเกิดความไม่สมดุล โต่งไปในรูปธรรม/วัตถุที่เป็นภัย โต่งไปในนามธรรมที่เป็นภัย ก็จะเกิดความทุกข์ต่างๆ รวมทั้งเกิดโรคขึ้น
พลังงานชีวิตของเรา ถ้าเมื่อใดไม่สมดุล ก็จะแปลงเป็นพลังงานทุกข์ เขาจะบอกเราให้เป็นทุกข์ ให้เป็นโรค เพื่อให้เราได้อายุยืน เพราะเขาบอกเราเพื่อให้แก้ไข ให้ทำความสมดุล เขาบอกเราว่ามีพิษอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เรามีพิษ ช่วยเอาพิษออกให้ด้วย พอเอาพิษออก แล้วใส่สิ่งที่เป็นประโยชน์เข้าไป เราก็สมดุล พลังชีวิตก็จะแปลงเป็นพลังสุขให้เรา แปลงเป็นความผาสุก พลังชีวิตเราก็จะเต็ม จะแปลงเป็นทั้งประโยชน์สุขและเป็นทั้งพลังงานสร้างสรรให้เรา
ไม่ว่าเราจะสมดุลหรือไม่สมดุล สัจจะแห่งชีวิตก็บอกเราเท่านั้นเอง ก็มีอยู่เท่านี้ในโลกใบนี้ ไม่สมดุลก็แปลงเป็นพลังงานทุกข์ บอกเราว่ามีพิษอยู่ตรงนี้ ช่วยเอาพิษออกให้หน่อย ช่วยปรับสมดุลให้หน่อย ช่วยเอาพิษออก พอเราเอาพิษออก แล้วใส่สิ่งที่ถูกกันเข้าไป เอาสิ่งที่มีประโยชน์มาใส่ มันก็สมดุล พลังชีวิตก็จะแปลงเป็นพลังประโยชน์สุขให้กับเรา ก็มีอยู่เท่านี้ ไม่เห็นน่ากลัวอะไร
พระพุทธเจ้าตรัสหลักไว้ว่า ไม่สมดุลก็เป็นทุกข์เป็นโรค สมดุลก็หายทุกข์หายโรค หายโรคเราก็สดชื่นแข็งแรงมีพลังชีวิต ไม่สมดุลเราก็เป็นโรค ก็เท่านี้ พลังชีวิตก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่แค่นี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
เมื่อเรารู้อันนี้แล้ว หลักการสำคัญที่จะทำให้เราไม่กลัวโรค ก็คือ เราก็จะเอาประโยชน์จากโรคนี้ให้ได้ จงเอาประโยชน์จากโรคให้ได้ ไหนๆก็ได้เป็นโรคแล้ว เอาประโยชน์จากโรคให้ได้ เราจะไม่กลัวโรค แล้วใจก็จะเป็นสุข เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ข้อที่ ๒๔๔๔ ว่า คนมีปัญญาแม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ จะเห็นได้ว่า แม้ขณะที่มีทุกข์ยังไม่ทุกข์ใจเลย ขณะทุกข์ยังเป็นสุขใจ คนมีปัญญา แม้ประสบทุกข์ยังหาสุขพบ หาสุขให้ได้ในโรค จะหาสุขได้อย่างไร หาประโยชน์ของโรค สุขนั้นคือประโยชน์
 ความเป็นโรคทำให้เราได้ประโยชน์หลักๆ อย่างน้อย ๓ ประการ ดังนี้
            ๑. โรคทำให้เรามีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น ทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะการเป็นโรคนั้นทุกข์ทรมาน จะทำให้เราได้อดได้ทน ทำให้จิตวิญญาณเรามีน้ำอดน้ำทน เราจะแข็งแกร่งขึ้น จะเสียหายหรือไม่ถ้าคนเราจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น มีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น   ไม่เสียหายอะไร
ถ้าจิตวิญญาณเราจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น คนที่แข็งแกร่งมาก มีน้ำอดน้ำทนมาก  จะทุกข์ได้ยาก เพราะฉะนั้น เอาโรคมาทำประโยชน์ อย่างน้อยเราก็แข็งแกร่งขึ้น มีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น ได้ฝึกความอดทนก็จะแข็งแกร่งขึ้น ไม่มีอะไรขาดทุน
 ๒. โรคก็ทำให้เวรกรรมเราน้อยลง โรคทำให้สิ่งไม่ดีในชีวิตเราลดน้อยลง เพราะไม่มีอะไรที่เราได้รับโดยที่เราไม่ทำมา นี้เป็นสัจจะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กัมมสโกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗) แปลว่า เรามีกรรม(การกระทำ)เป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล กัมมปฏิสรโณ คือ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยหรือเป็นผู้ให้ผล ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า คำใดที่ท่านตรัสไว้จะไม่มีผู้ใดลบล้างได้ คือ อกาลิโก (เป็นจริงตลอดกาล) และเอหิปัสสิโก (เชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้)
ดังนั้นสิ่งที่เรารับอยู่ ก็คือสิ่งที่เราทำมา จะได้ดีหรือไม่ดี ล้วนเกิดจากสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดทั้งสิ้น จะเกิดจากสิ่งอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเราทำมาก็จะเป็นสมบัติของเรา จะสะสมฝังไว้ในจิตวิญญาณของเรา เป็นวิบากกรรมที่คอยดลให้เราได้รับผล เมื่อวิบากกรรมใดดลให้เรารับผลแล้วก็หมดไปเท่าที่เรารับ
เพราะฉะนั้น โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นผลจากวิบากกรรมที่เราได้ทำมา ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติก่อน เกิดจากบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดีที่เราได้ทำมา ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติก่อน เป็นวิบากกรรมที่ดลให้เกิดผลกับเรา ได้รับผลแล้วก็ดับไป รับเท่าไหร่ ก็หมดไปเท่านั้น และเมื่อวิบากกรรมที่ไม่ดีหมดไป พลังวิบากกรรมที่ดีก็จะส่งผลแรงเพราะไม่มีพลังชั่วมาต้านไว้
 เสียดายหรือที่พลังไม่ดีหมดไป เสียดายสิ่งไม่ดีหรือ? จะไปเสียดายสิ่งที่ไม่ดีทำไม    สิ่งที่ไม่ดีหมดไปก็ดีแล้ว จะเสียดายทำไม สิ่งที่ไม่ดีทยอยหมดไปก็ดีแล้ว ดีกว่าให้สิ่งที่ไม่ดีรวมมาทีเดียวมากๆ ก็จะทุกข์จะหนักมาก ลองทบทวนดูก็ได้ว่า เราเคยไม่สบายเป็นมาเท่าไหร่ๆ ที่เราทยอยรับผลมา ถ้าความไม่สบายนั้นรวมมาเป็นหนักๆ ทีเดียวจะเป็นอย่างไร เราตายเลยนะ ดีแล้วที่ความไม่สบายทยอยมาให้รับไป แล้วทยอยหมดไป ทยอยรับมาเท่าไหร่ ก็หมดไปเท่านั้น รับมากก็หมดมาก รับน้อยก็หมดน้อย รับแล้วก็หมดไป
เราอย่าไปทำเพิ่มก็แล้วกัน เราก็ทำแต่สิ่งดี เราก็จะรับแต่สิ่งดี เพราะฉะนั้น ประโยชน์ข้อที่สองของการเป็นโรคก็คือ เวรกรรมเราจะน้อยลง พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เชื่อเรื่องบาปบุญจะพ้นทุกข์ ท่านตรัสในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ในข้อที่ ๔ ในพระไตรปิฏก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๗        “ทางพ้นทุกข์คือ เชื่อเรื่องของกรรมและผลของกรรม เชื่อเรื่องการกระทำหรือผลของการกระทำ เชื่อเรื่องวิบาก วิบากแปลว่า ผลของการกระทำ ในโลกนี้ไม่มีอะไรบังเอิญทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในโลกใบนี้ไม่มีอะไรบังเอิญ ไม่มีอะไรฟลุ๊ค ทุกอย่างมีมาแต่เหตุ      เหตุคือกรรม (การกระทำ) ทุกอย่างเกิดจากการกระทำทั้งสิ้น ไม่มีอะไรบังเอิญ ไม่มีอะไรฟลุ๊คทั้งสิ้น ใครจะได้รับสุขได้รับทุกข์ ได้รับอะไรๆ ก็เกิดจากผู้นั้นๆ ทำมาทั้งหมด    ไม่ว่าจะทำอะไรมาก็ตาม
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๗ ข้อ [๑,๖๙๘]  “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรม (การกระทำ) อันเป็นไปด้วยความจงใจ ที่บุคคลทำแล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรมนั้นแล จะให้ผลในภพนี้ หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป
 ดังนั้น อะไรที่เราทำมาก็จะสะสมเป็นวิบากกรรม อะไรทำด้วยเจตนาจะสะสมลงในจิตวิญญาณของเรา เป็นวิบากแล้วรอรับผล ทำดีรอรับผลดี ทำไม่ดีรอรับผลไม่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารับอยู่คือสิ่งที่เราทำมา ถ้าเราเชื่อเรื่องเวรเรื่องกรรม เราก็จะไม่ทุกข์ใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญจะไม่พ้นทุกข์ ใครเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญจะพ้นทุกข์ เพราะถ้าไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ เวลาได้รับทุกข์จะคลายใจไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร
จะทำใจไม่ได้ว่าทำไมเป็นเรา ทำไมเป็นเรา เมื่อไหร่จะหมด ทำไมเป็นเรา แต่ถ้าเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญก็พ้นทุกข์ใจได้ เพราะรู้ว่ารับแล้วมันก็หมดไปๆๆๆ รับเท่าไหร่ก็หมดเท่านั้น หมดเท่าที่รับ รับไปเรื่อยๆ ก็หมดเอง ไม่เหลือ ส่วนคนไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ จะไม่รู้ที่มาที่ไปของทุกข์ก็จะทุกข์ใจ บางทีก็ไปโกรธคนอื่นอีก เขามาทำเรานะ แต่จริงๆแล้วเราทำมาเอง ก็วิบากกรรมเราไปดึงให้เขามาทำร้ายเรา เขามาให้เราได้ชดใช้เวรกรรม
ถ้าเรารู้เรื่องกรรม จะไปโกรธคนอื่นได้อย่างไร เราจะไม่ไปโกรธไม่ไปถือสาคนอื่น แต่ถ้าใครไม่รู้เรื่องกรรม ก็ถือสาเขา เขามากินตับเรา เราก็กินตับเขากลับ สร้างวิบากกรรมใหม่ก่อเวรก่อกรรมที่ไม่ดีต่อกันไปไม่รู้จบไม่รู้แล้ว เมื่อไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อว่าสิ่งที่เรารับผลอยู่เกิดจากเราทำมาหรือไม่เชื่อว่าสิ่งที่ดี/ไม่ดีต่างๆ ที่เกิดกับผู้ใดๆ ก็ล้วนเกิดจากผู้นั้นๆ ทำมา ก็จะไปโกรธเขาใจก็เป็นทุกข์  ใจเป็นทุกข์ก็ส่งผลให้เป็นโรค
คนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม(การกระทำ)และวิบาก(ผล)กรรม ใจก็จะไปชิงชังรังเกียจเขา มักจะคิดว่าเมื่อไหร่เขาจะตาย เมื่อไหร่เขาจะตาย เมื่อไหร่เขาจะไปเสียที ระหว่างเรากับคนที่เรารังเกียจใครจะตายก่อนกัน รังเกียจเขามากๆ โกรธเขามากๆ ตัวเรานั้นแหละจะตายก่อน เราสร้างความรู้สึกโกรธชิงชังรังเกียจก็เป็นการฆ่าตัวเองเปล่าๆ อย่าไปฆ่าตัวเองเลย  ทั้งหมดนี้เราเองเป็นผู้ทำมา ใครทำไม่ดีกับเรา เราทำมาทั้งหมด รับแล้วก็หมดไป อย่าไปทุกข์ใจเลย อย่าไปทำทุกข์ทับถมตนเพิ่มอีกเลย ให้ทำแต่สิ่งดีๆชีวิตก็จะได้สิ่งที่ดีสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น
            ๓. เอาโรคมาฝึกแก้ปัญหาที่ต้นเหตุให้ได้    เพราะผู้ใดก็ตามที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทุกข์ในชีวิตจะดับได้ แล้วทุกข์ในชีวิตจะดับไปทั้งหมด เพราะต้นเหตุของทุกข์ทุกอย่างในโลกใบนี้เกิดจากทางโต่ง ๒ ด้านทั้งหมด  ด้านหนึ่งโต่งไปในทางกามสุขลิกะ (จิตหลงติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย) และอีกด้านโต่งไปในทางอัตตกิลมถะ (จิตหลงทำชั่ว หลงไม่ทำดี หลงทำจิตใจให้เศร้าหมอง)
ถ้าท่านมาลองฝึกปฏิบัติการดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์วิถีธรรม ในการฝึกปฏิบัติแบบนี้ ถ้าท่านเข้าใจ สมมติว่าต้นเหตุเกิดจากทางโต่งทั้งสองด้าน โต่งไปในทางเอาวัตถุที่เป็นพิษมาใส่ตนเอง โต่งเอาจิตที่เป็นพิษมาใส่ตนเอง เราก็เอาสิ่งที่เป็นพิษทั้งทางวัตถุและทางจิตออกไป เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งทางจิตและทางวัตถุมาใส่ชีวิตเรา ถ้าเราทำแบบนี้ด้วยวิธีการดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์วิถีธรรม ยา/เทคนิค ๙ ข้อ จะสามารถแก้ปัญหาสุขภาพและปัญหาอื่นๆได้ เพราะผู้เขียนพิสูจน์มาแล้ว
๑.   ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บก็แก้ได้
๒. ปัญหาความยากจนก็แก้ได้ เรามาฝึกกินข้าวกับเกลือ จะไม่รวยก็ให้รู้ไป (ความจริงก็กินอย่างอื่นด้วยแต่กินใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่ขาดแคลน แต่สมบูรณ์แบบที่สุด) หลายคนพอฝึกแบบนี้แล้วกลุ้มใจเลย เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ชีวิตนี้มาทำแบบนี้ จะเอาเงินไปทำอะไร การเอาไม้มากัวซา ขูดไปทั้งชีวิต ขูดไปจนตาย ไม้กัวซามันจะหมดหรือไม่ เผลอๆ เราสามารถให้ลูกไว้เป็นมรดกตกทอดได้อีก
การกดจุดลมปราณ ก็ไม่เสียซักบาท หาสมุนไพรใกล้บ้าน ประหยัดหรือไม่ หาของใกล้ตัวมารักษา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกกกจูปมสูตร ใช้สิ่งที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษด้วยความประหยัดมาดับทุกข์ คือให้หาของใกล้ตัวของในตัวโดยใช้อย่างประหยัดเป็นหลัก มารักษาโรคกายโรคใจก็จะดับทุกข์ได้ รวมถึงการทำใจให้สบาย จะเสียเงินกี่บาท ไม่ได้เสียซักบาท
เห็นหรือไม่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาแก้ปัญหาความยากจนได้ นี่คือวิธีแก้ปัญหาความยากจนแห่งชาติ ถ้าทำได้สิ่งแวดล้อมก็จะดี เพราะใช้ทรัพยากรของโลกน้อย แต่สร้างสิ่งที่ดี สร้างความสะอาด สร้างธรรมชาติไร้สารพิษ สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับโลกมากๆ ก็จะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นได้ โดยคนมาปลูกพืชปลูกผักไร้สารพิษ คนมีระเบียบวินัย ไม่ทำสิ่งสกปรกต่างๆ ช่วยกันทำความสะอาด กินน้อย ใช้น้อย เอาทรัพยากรจากโลกน้อย สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ได้ใช้/เผาผลาญทรัพยากรอย่างไร้ประโยชน์ ไม่ได้สร้างมลพิษต่างๆ ให้เกิดขึ้น เราสร้างแต่สิ่งที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างต้นไม้ สร้างสิ่งที่มีประโยชน์
แก้ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งได้อีก กินข้าวกับเกลือจะไปทะเลาะกับใคร จะไปแย่งเงินกับใคร วันๆ กินข้าวกับเกลือ ทำกัวซาไป มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป รักษาโรคก็รักษาแบบถูกๆ ชีวิตก็ดำเนินไปแบบถูกๆ จะต้องไปโลภไปหาเงินมากๆทำไม ไม่ได้ไปหาเงินมากๆ จะไปทะเลาะกับใคร คิดดูให้ดีซิ จะไปแย่งเงินกับใคร ก็เรามีพอใช้แล้วเหลือด้วย ก็จะไปแบ่งให้เขาไม่ใช่ไปแย่งเขา จริงๆการปฏิบัติแบบนี้มันจะเหลือเฟือ ลดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งได้ ไม่ต้องไปแย่งเงินแย่งทอง แย่งทรัพย์สมบัติกับใคร พอกินพอใช้ เหลือด้วย คิดดูว่าจะแบ่งใครดี ยิ่งมีน้ำใจเกื้อกูลกันช่วยเหลือกัน ช่วยเหลือกันฟรีๆ คนมีความรู้ อะไรกันก็เกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกัน ช่วยเหลือกันฟรีๆ ช่วยเหลือกันถูกๆ สามัคคีกัน แก้ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งได้
ถ้าเราเริ่มต้นจากปัญหาใดก็แล้วแต่ในโลกใบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดในโลกอยู่ที่เดียวกันหมด  ดังนั้นจะเริ่มจากปัญหาใดก็แล้วแต่ ก็แก้ให้ถูกเหตุ ให้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ไล่หาต้นเหตุมันลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็อยู่ที่เหตุแห่งทุกข์อันเดียวกัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็คือทางโต่งหรือความไม่สมดุล ๒ ด้าน ได้แก่ กามสุขลิกะ (จิตหลงติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย) และอัตตกิลมถะ (จิตหลงทำชั่ว หลงไม่ทำดี หลงทำจิตใจให้เศร้าหมอง)
ขณะเราดับเหตุเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เราไม่เอาวัตถุที่เป็นพิษมาใส่ แต่เอาวัตถุที่ถูกต้องมาใส่ ไม่เอาจิตที่เป็นพิษมาใส่ แต่เอาจิตที่ถูกต้องที่ดีงามมาใส่ ก็สามารถแก้ทุกปัญหาได้
ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นการแก้ทุกปัญหาโดยการแก้ที่ต้นเหตุอันคือทางโต่งทั้งสองด้าน มันแก้ได้ทุกปัญหา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงว่า คำใดที่ท่านตรัส จะไม่มีใครลบล้างได้ อกาลิโก  (เป็นจริงตลอดกาล) เอหิปัสสิโก (เชื้อเชิญให้มาพิสูจน์กันได้) แม้ว่าเราเริ่มที่ปัญหาเจ็บป่วย แล้วเราเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเจ็บป่วยไปเรื่อยๆ ความเจ็บป่วยก็จะลดลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้ปัญหาของชีวิตด้านอื่นๆก็จะลดลงตามกัน
หลายท่านบอกกับผู้เขียนว่าขอบคุณที่เป็นโรค เพราะถ้าไม่เป็นโรคก็จะไม่พบสัจจะ ถ้าไม่เป็นโรคก็จะไม่พบสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขที่มนุษย์จะควรได้  อาจไปท่องเที่ยวอยู่แห่งหนใดก็ไม่ทราบ มัวเพลิดเพลิน เสียเวลาไปมัวเมาอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ไม่มาดูแลสุขภาพ แต่ความเจ็บป่วยก็ทำให้ต้องมานั่งเรียนการฝึกปฏิบัติการดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์วิถีธรรม ทำให้ได้สิ่งที่ดีที่ควรได้ในชีวิต ทำให้ได้ความผาสุกในชีวิต ทำให้ได้พบสัจจะ ทำให้แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา
เพราะฉะนั้น การเป็นโรค ก็ทำให้ท่านพบกับสิ่งเหล่านี้ได้ คือ
. โรคทำให้มีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น
.โรคทำให้เวรกรรมสิ่งไม่ดีในชีวิตลดน้อยลง
.โรคทำให้ผู้เป็นโรคฝึกแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงทำให้ลดปัญหาทุกอย่างในโลกได้
เมื่อพิจารณาอย่างแยบคายจนชัดเจนในจิตใจแล้ว ผู้เป็นโรคจะไม่กลัวโรค จะขอบคุณโรค เพราะถ้าไม่มีโรค คงไม่ได้ดี โรคจะทำให้ได้สิ่งที่ดีในชีวิตถ้าผู้ที่เป็นโรคนั้นสามารถเอาประโยชน์จากโรคได้ 
      ๓.    อย่าเร่งผล
อย่าเร่งผล คือว่า เราปรารถนาจะหายเร็วได้ แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าต้องหายเร็ว ผู้ใดที่ใจร้อน ทั้งรีบร้อน เร่งร้อน เร่งผล ว่าต้องหายเร็ว ไปยึดมั่นถือมั่นว่าต้องหายเร็ว มันจะกดดันจิตใจตัวเอง ถ้ามันหายไม่ได้ทันใจ จะเครียดทำให้เป็นทุกข์ใจ ทุกข์ใจก็คือการเบียดเบียน ทำให้ก่อโรคได้ ยิ่งเร่งเท่าไหร่ยิ่งกดดันยิ่งเป็นทุกข์ใจมากเท่านั้นๆ ใจร้อนเท่าไหร่ ก็ทุกข์ใจเท่าที่ใจร้อน เมื่อทุกข์ใจร่างกายจะเจ็บป่วย โรคกำเริบ เพราะฉะนั้น ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเร่งผล
            วิธีปฏิบัติคือ ให้ทำใจว่า เราปรารถนาที่จะให้หายเร็วได้ อยากหายเร็วได้ เราก็ดูแลเต็มที่เลยตามบุญตามความรู้ที่เรามี เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว ให้เราทำใจว่า หายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้ จริงๆ ทำใจไปเลย เมื่อทำใจแบบนี้ ใจจะเป็นสุข เมื่อใจเป็นสุข โรคจะหายเร็ว ถ้าเราทำใจว่าโรคจะหายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้ ใจจะสบาย แล้วโรคก็จะหายเร็ว
หลายคนที่ทำทุกอย่างแล้ว แต่ก็ไม่หายเจ็บป่วยซักที ปรากฏว่าเมื่อมาตรวจใจแล้วพบว่าใจร้อน ไปยึดมั่นถือมั่นว่าต้องหายเร็ว  จริงๆ มันจะหายเร็วหรือช้าก็ได้  อย่าไปยึดมั่นถือมั่น อย่าใจร้อน ทำเต็มที่แล้วปล่อยวางเลย โรคเขาจะหายตอนไหนก็ช่างเขา โรคจะหายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้ เพราะการปล่อยวางทำให้ใจเป็นสุข  เมื่อใจเป็นสุขโรคก็จะหายเร็ว  มันจะทุเลาเร็วมาก 
ทำให้มันถูก พอเราปล่อยวางก็สบายใจ แล้วเราก็พักไป คราวหน้าพอเรามีแรงอีก ก็พากเพียรอีก ทำไปให้เต็มที่ พอเราหมดเรี่ยวหมดแรงแล้วก็พัก ทำเต็มที่แล้วก็ปล่อยวางเลย ปล่อยวางที่ใจ 
เวลาทำก็ทำด้วยความสุข ทำด้วยใจที่รู้ค่าว่าเมื่อทำแบบนั้นแบบนี้จะทำให้ทุเลาหรือหายเร็ว ทำด้วยความสุข (ความยินดี  ความพอใจ  สุขใจ  รู้ค่า  รู้ประโยชน์) เมื่อทำด้วยความยินดีสุขใจเต็มที่เรียบร้อยเต็มแรงแล้ว  เพลียแล้วก็ปล่อยวางเลย  โรคจะหายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้ เป็นการพักใจ  ใจก็เบิกบาน  สบายใจ 
พักกายคือหยุดทำ  พักใจคือหยุดทุกข์  ก็หยุดทุกข์ในใจเรา เราทำเต็มที่แล้ว ทำการเพียรและพักด้วยความสุขนะ ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว ได้ดูแลตัวเองแล้ว เราไม่ได้ดูดาย ทำด้วยความสุขเต็มที่ เป็นประโยชน์ที่สุดแล้ว  ทำตามบาปตามบุญของเรา ทำเต็มที่แล้วปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ใจก็เป็นสุข 
โรคจะหายเร็วเท่าที่เราปล่อยวางได้  แต่ละคนหายเร็วหรือหายช้าไม่เท่ากัน  เราไม่สามารถจะไปคาดเดาได้ คนปฏิบัติเหมือนกัน แต่หายต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมและความฉลาดของจิต ถ้าเราทำจิตได้ดีมากเท่าใด  ก็ทุเลาหรือหายได้ดีเท่านั้น
เผลอๆ บางท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วทำใจตามได้นะ ผู้เขียนพบว่าหลายท่านนี่โรคลดลงได้เลย อาการปวดหายไปตอนไหน หายไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ โรคจะหายหรือทุเลาลงได้ ลองตรวจดูได้เลย พอใจเราสบาย แล้วมันหายหรือทุเลาโรคเลย คนไม่ทุกข์ใจจะมีกำลังในการรักษาโรคจริงๆ สิ่งนี้ช่วยดับทุกข์ได้อย่างดีเยี่ยมเลย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล” (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒) แปลว่า ทุกข์ย่อมไม่มีในผู้ไร้กังวล เราทำใจไร้กังวลได้เมื่อไร ทำใจไร้กังวลได้มากเท่าไร ทุกข์ใจก็จะไม่ตกถึงเรา ทุกข์กายก็จะลดหรือสลายไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำใจให้ถูกแล้วโรคจะทุเลาหรือหายไปอย่างที่เราคิดไม่ถึง
ผู้เขียนรู้ยาเม็ดนี้ ชีวิตจึงมีความสุขมาก ทำใจให้ไร้กังวลอย่างเดียว ทุกข์ต่างๆ จะลดลงหรือหายเองได้เลย เป็นยาที่แรงที่สุด ผู้เขียนพิสูจน์อย่างชัดเจนมาแล้ว ๑๖ ปี
 ๔.    อย่ากังวล
การปฏิบัติในเรื่อง อย่ากังวล ในเบื้องต้นให้ปฏิบัติแบบง่ายๆ คือ คิดแบบไหนก็ได้ให้ใจมันสบาย ถ้าคิดแล้วใจสบาย อันนั้นเป็นประโยชน์ ช่วยลดโรคทันที เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าคิดแล้วใจไม่สบาย แปลว่าเป็นโทษ ก่อโรค ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรทำ พยายามปรับจิตใจอย่างไรก็ได้ ปรับแบบไหนก็ได้ ให้ใจเป็นสุขสบายจริงๆ
ถ้าคนเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ จะคิดทำให้ใจเป็นสุขได้ง่าย ถ้าเราเชื่อว่าบาปบุญมีจริง เราก็จะหยุดทำชั่ว ไม่ทำชั่ว เราก็จะทำแต่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  “ความสั่งสมบุญ (การปฏิบัติศีลด้วยการละสิ่งที่ไม่ดี ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส) นำสุขมาให้ (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐), “ความสั่งสมบาป (ผิดศีล) นำทุกข์มาให้ (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐)
นี้เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หายหรือเกิดโรคที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันไม่ทราบ การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นมีเรื่องสมดุลร้อนเย็นด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก สังคีติสูตร ในประเด็นของการทำให้มีโรคน้อย มีทุกข์น้อยแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การไม่ทำบาป นำสุขมาให้” (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๕๙), ความสั่งสมบุญนำสุขมาให้” (ขุทฺทกนิกาย ธมฺมปท. เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐)
ดังนั้น คนจะมีความสุขจะต้องละบาป บำเพ็ญบุญ เมื่อเราละบาปบำเพ็ญบุญแล้ว ถ้าเรายังได้รับผลร้ายอยู่ มีความทุกข์ในขณะที่เราทำดีอยู่ ก็แปลว่า ผลร้ายที่เราได้รับมันน้อยกว่าความชั่วหรือสิ่งไม่ดีที่เราได้เคยทำมาไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติก่อน เพราะมีความดีที่เราทำมาและกำลังทำอยู่นั้นช่วยต้านหรือบรรเทาเบาบางสิ่งไม่ดีที่เราเคยทำมาก่อนนั้น นั่นคือผลดีที่เราได้รับ แต่ถ้าเราไม่ทำดีก็ต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีหนักกว่านั้นแน่นอน ดังนั้น เมื่อเราทำดีเราก็เลยได้รับผลดีนั้น ถ้าเรารู้สัจจะนี้เราก็จะสุขใจ และถ้าเราอยากได้รับผลดีมากขึ้นและยาวนานมากต่อไป จะทำอย่างไร ก็ต้องทำดีให้มากๆๆๆๆ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อม” (พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๕๘), เมื่อเขาเสพศีล พรต ชีวิตพรหมจรรย์ซึ่งมีการบำรุงดี อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญมากยิ่งขึ้น ศีล พรต ชีวิตพรหมจรรย์ ซึ่งมีการบำรุงดี เห็นปานนั้นมีผล (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๘) แสดงว่ากุศลกรรมสามารถยังอกุศลกรรมให้เบาบางได้ คุณความดีจะทำให้สิ่งไม่ดีในชีวิตลดลงได้  
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๒ ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง ข้อ ๓๙๒ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ในอดีตชาติปางที่ท่านยังไม่บำเพ็ญบุญท่านเคยทำบาปหลายอย่าง เช่น เคยเป็นนายทหารเคยฆ่าตายเป็นจำนวนมาก เคยฆ่าน้องชายต่างมารดา เคยห้ามโคไม่ให้ดื่มน้ำ เป็นต้น พอท่านรู้แล้วว่าเป็นบาป/ไม่ดี ท่านก็หยุดทำบาป แล้วท่านก็ทำแต่ความดีมากๆๆๆ เมื่อท่านทำความดีมากๆๆๆ ท่านก็พบว่าวิบากกรรมบาปที่ท่านได้รับมันน้อยกว่าที่ท่านเคยทำมา ยกตัวอย่างเช่น ในอตีตชาติของพระพุทธเจ้าท่านเคยฆ่าน้องชายต่างมารดา คือ อดีตชาติของพระเทวทัต เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด (ทับ) ด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในยุคที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้า  พระเทวทัตจึงผลักก้อนหิน ก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของท่านจนห้อเลือด จะเห็นได้ว่า แทนที่ท่านจะถูกฆ่าตาย ก็ถูกเพียงสะเก็ดหินเท่านั้น เพราะมีพลังความดีต้านหรือบรรเทาสิ่งที่ไม่ดีให้น้อยลง
            เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่าเราได้รับน้อยกว่าที่ทำมาจริง เราก็สบายใจ ถ้าไม่ทำความดีจะเป็นอย่างไร จะโดนหนักกว่านี้อีก ดังนั้นเราโดนเท่านี้ก็ดีแล้ว ไม่หนักกว่านี้ก็ดีแล้ว ถ้าเราไม่ทำความดีเราก็จะโดนหนักกว่านี้ และเมื่อเราได้รับผลแล้วสิ่งไม่ดีนั้นก็หมดไปๆๆ เท่าที่เรารับ เมื่อรู้ดังนี้เราก็จะสบายใจ
            ถ้าอยากให้ความไม่ดีหมดไปเร็ว จะทำอย่างไร ก็ทำความดีมากๆๆๆๆไว้ การทำความดี จะช่วยให้ความเดือดร้อนในชีวิตลดน้อยลงตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่ากุศลกรรมสามารถยังอกุศลกรรมให้เบาบางลงได้   เผลอๆ ถ้าเข้าใจได้ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วทำไว้ในใจได้ดีๆ จะไม่ทุกข์ใจเลย ซึ่งจะช่วยทำให้โรคทุเลาหรือหายได้เร็ว
            การเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ จะทำให้เราหายโรคได้ง่าย คนไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ ยากที่จะทำใจให้ไร้กังวลได้ แม้ผู้ที่บอกให้พลิกจิตมองโลกในแง่ดี เวลาถ้าโดนสิ่งไม่ดีน้อยๆ ก็จะพอพลิกจิตได้ แต่เวลาโดนสิ่งไม่ดีหนักๆและไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ ไม่มีทางพลิกจิตมองโลกในแง่ดีให้สบายใจได้ เพราะจะไม่รู้เลยว่าทำไมต้องเป็นเรา ทำไมเป็นเราๆ แล้วจะหมดเมื่อไร จะไม่รู้เหตุรู้ผลเลย ไม่รู้ที่มาที่ไปก็จะทุกข์ใจ
            เผลอๆ ไปโกรธคนอื่นอีก เพราะไม่รู้ความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับอยู่ล้วนเกิดจากกรรม(การกระทำ)และวิบาก(ผล)กรรมของเราทั้งสิ้น ที่ลิขิต(เขียนบท)หรือดลให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้กับเรา แม้แต่ดลให้คนนั้นคนนี้มาทำไม่ดีไม่เราก็ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของเราเกิดจากวิบากกรรมของเราที่เคยทำไม่ดีมาอาจในชาตินี้หรือชาติก่อน ลิขิตหรือดลให้เกิดผลกับเรา เมื่อเรารับผลไม่ดีนั้นแล้ววิบากกรรมไม่ดีนั้นก็หมดไป จะต้องไปโกรธเขาให้เราทุกข์ใจทุกข์กายทำไม
            ยิ่งถ้าเขามาทำไม่ดีกับเราด้วยเจตนาก็จะสั่งสมเป็นวิบากกรรมร้ายของเขา น่าสงสารเขาที่จะต้องรับทุกข์จากวิบากกรรมนั้นต่อไป เราช่วยให้เขาลดสิ่งที่ไม่ดีนั้นได้ไหม ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ปล่อยวางให้เขาเรียนรู้สุขทุกข์ตามบาปบุญของเขา เมื่อเขาทุกข์มากพอ เขาก็จะหาทางออกจากทุกข์เอง และเราก็รู้ว่าสุดท้ายทุกอย่างก็ดับไป เราก็จะไม่ทุกข์ใจอะไร  
            พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า คนไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญจะไม่พ้นทุกข์ ส่วนคนที่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญก็จะพ้นทุกข์ได้ เพราะจะคลายทุกข์ในใจได้
            ชีวิตเดินทางไปสู่ความตายด้วยกันทุกคน  ถ้าเราเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ ต่อให้เรื่องบาปเรื่องบุญไม่มีจริง (แต่ความจริง บาปบุญมีจริง) ใจเราก็จะไม่ทุกข์ ใจเราก็จะเป็นสุข จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเราและผู้อื่น เราจะเดินทางสู่ความตายโดยไม่ทุกข์ใจซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพด้วย ส่วนคนที่ไม่เชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ ก็เดินทางสู่ความตายเหมือนกัน แต่เดินทางสู่ความตายด้วยความทุกข์ใจและเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อท่านไต่ตรองให้ดีท่านก็จะชัดเจนว่าอะไรเป็นประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้น การเลือกเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ ไม่มีอะไรขาดทุน มีแต่กำไรอย่างเดียว เพราะใจก็ไม่ทุกข์และกายก็ได้ประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
                  นอกจากเชื่อเรื่องบาปเรื่องบุญ จะทำใจให้ไร้กังวลได้แล้ว การปฏิบัติที่ทำให้เราทำใจไร้กังวลได้ที่สำคัญประเด็นต่อไป คือ เรามีหน้าที่กิจการงานอะไรก็แล้วแต่ ให้เราทำหน้าที่กิจกรรมการงานนั้นเต็มที่สุดฝีมือ ตามเหตุปัจจัยที่ทำได้ เช่น มีหน้าที่ดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ดูแลกิจการงาน ดูแลสังคม เมื่อทำเต็มที่แล้ว ให้เราทำใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้จริง
อย่าอยากได้ดีหรืออยากให้เกิดดีเกินกว่าฤทธิ์แรงเกินกว่าความสามารถที่ทำได้จริง เพราะการอยากได้เกินจริง อยากได้เกินกว่าที่ทำได้จริง จะทำให้ใจเป็นทุกข์แล้วจะเจ็บป่วย แต่ถ้าการยอมรับความจริง จะทำให้ใจเป็นสุข และหายเจ็บป่วยเร็ว
เมื่อเราได้พยายามทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะดีมากน้อยเท่าไรก็แล้วแต่ มันก็ดีที่สุดแล้วตามที่เป็นจริง จะดีมากดีน้อยก็แล้วแต่ หรือจะล้มเหลวก็ตามนะ ถ้าเราไม่ทำดีเลยมันอาจจะล้มเหลวกว่านั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นมันดีที่สุดแล้วตามบาปตามบุญของโลก
เมื่อมันดีที่สุดที่เป็นไปได้จริงแล้ว จะทุกข์ใจไปทำไม ต่อให้ดีที่สุดที่เป็นไปได้จริง ต่อให้ดีมากดีน้อย หรือล้มเหลวก็ตาม สุดท้ายมันก็จะดับไป  มันไม่ใช่สมบัติแท้ของเรา เพราะความสำเร็จของการทำงาน ความสำเร็จของการช่วยคน แม้แต่ความสำเร็จในการดูแลสุขภาพทางกายของเรา ก็ไม่ใช่ความสำเร็จแท้ของเรา ความสำเร็จแท้ของเราคือเราไม่ทุกข์ใจไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เมื่อเราได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว
ทำดีเต็มที่แล้วก็ดีเต็มที่แล้ว ทำเต็มที่แล้วก็สุขเต็มที่ได้แล้ว ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องเสียดาย ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรจะต้องทุกข์ ทำดีที่สุดแล้วก็สุขที่สุดได้แล้ว
ดังนั้น ในการทำกิจกรรมการงานต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขภาพกายของเรา ความสำเร็จแท้ของเราคือเราไม่ทุกข์ใจ ไม่ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เมื่อเราได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไขการได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แล้วเราไม่ทุกข์ใจ นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิต คือประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิต และคือความผาสุกที่แท้จริงของชีวิต  
สิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิต คือ ความผาสุกของจิตวิญญาณของจิตใจ เพราะฉะนั้น เราจงเอาสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตเถิด งานสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่เป็นไร เพราะสำเร็จก็ดับไป ไม่สำเร็จก็ดับไป ไม่ใช่สมบัติแท้อันยั่งยืนของเรา เราทำเต็มที่แล้วไม่ทุกข์ใจต่างหาก คือ ความสำเร็จที่แท้
ดังนั้น ทำเต็มที่แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จะสำเร็จมาก สำเร็จน้อย หรือจะล้มเหลว ปล่อยให้เป็นอย่างที่มันเป็น ใจเราจะไม่เป็นทุกข์ ปล่อยวางไป มันจะเป็นอะไร ก็ปล่อยมันไปตามบาปบุญของโลก เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันเกิดขึ้นจากผลของการกระทำ จากการสังเคราะห์ของเหตุปัจจัยดังนี้คือ
๑.     ความพากเพียรของเรา
๒.    ความพากเพียรของโลก
๓.    บาปบุญของเรา
๔.    บาปบุญของโลก
๕.    องค์ประกอบสิ่งแวดล้อม
ผลที่เกิดขึ้นต่างๆในโลกก็ล้วนเกิดจาก ๕ สิ่งนี้สังเคราะห์กัน ถ้าเหตุปัจจัยลงตัวและสังเคราะห์กันดีมันก็ได้ผลดีมาก ถ้าเหตุปัจจัยลงตัวกันน้อย/สังเคราะห์กันได้น้อยมันก็ได้ผลดีน้อย ถ้าเหตุปัจจัยไม่ลงตัว/สังเคราะห์กันไม่ดีมันก็ได้ผลไม่ดี มันจะลงตัวหรือไม่ลงตัวก็ตาม สุดท้ายมันก็ดับไป นี่คือสิ่งสำคัญ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น แม้ดีก็ตามก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าการยึดมั่นถือมั่นจะทำให้เป็นทุกข์
ผู้เขียนได้น้อมนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลักพรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) มาปฏิบัติ แล้วพบว่าเป็นหลักการทำดีที่ทำให้จิตใจเป็นสุขอย่างยิ่ง  ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายเป็นภาษาปฏิบัติง่ายๆ เป็นหลักการทำดีอย่างมีสุข ๖ ข้อ ดังนี้
๑.      รู้ว่าอะไรดีที่สุด เช่น รู้ว่าเรารักษาโรคให้หาย ก็จะดีที่สุด รู้ว่าสามีดี ภรรยาดี บุตรดี สังคมดี บ้านเมืองดี ก็จะดีที่สุด คือรู้ว่าอะไรดีที่สุดที่จะทำให้เราหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่สุด
๒.     ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด
๓.     ลงมือทำให้ดีที่สุด
๔.     ยินดีเมื่อได้ทำให้ดีที่สุดแล้ว
๕.     ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด
๖.      นั่นแหล่ะคือสิ่งที่ดีที่สุด
ถ้าอยากมีความสุข อยากให้โรคหายเร็ว ก็ทำ ๖ ข้อนี้ให้ได้
                  ตรงกับหลักการทำให้แข็งแรงอายุยืนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก “อนายุสสสูตร” ในข้อที่ ๕ ประพฤติเพียรดั่งพรหม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งสามารถขยายรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
         เมตตา ก็คือ รู้ว่าอะไรดีที่สุด และปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับเขาหรือเรา เมตตา คือ ปรารถนาให้เกิดสภาพจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด
            กรุณา ก็คือ ลงมือทำให้ดีที่สุด เช่น กรุณาทำนั่น กรุณาทำนี่ให้หน่อย
      มุทิตา ก็คือ ยินดีเมื่อได้ทำให้ดีที่สุดแล้ว ยินดีเมื่อดีเกิดขึ้นกับเขาหรือเรา แม้เขาหรือเราจะไม่ได้ผลดีดังที่มุ่งหมายหรือได้ดีน้อยกว่าที่มุ่งหมาย เราก็ยินดีที่เราไม่ได้ดูดาย ยินดีที่เราได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว เพราะเมื่อเราได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ดีก็ได้เกิดขึ้นแล้วในกาย/วาจา/ใจของเรา เราก็ยินดีที่ดีได้เกิดขึ้นแล้วในกาย/วาจา/ใจของเรา
            อุเบกขา ก็คือ การปล่อยวาง ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะความยึดมั่นถือมั่นทำให้ใจเราเป็นทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สัพเพ ธรรมานาลัง อภินิเวสายะ แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นย่อมไม่ทุกข์(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๙ ข้อ ๓๖๐)

นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส แม้แต่ดีก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เราปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดได้ ลงมือทำให้ดีที่ดีที่สุดก็ได้ แต่จะไปยึดมั่นถือมั่นว่าดีต้องเกิดปริมาณเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ (มันไม่เที่ยงไม่แน่นอน) ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่ตลอดกาลนานก็ไม่ได้ (สุดท้ายมันก็จะดับไป) ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น จะทำให้ใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ยึดไม่ได้ ปล่อยวางเลย ปล่อยให้เป็นอย่างที่มันเป็น จะได้มากได้น้อยก็แล้วแต่บาปแต่บุญของโลก ปล่อยไปเลย แล้วใจจะเป็นสุข นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด คือ ข้อที่ ๖
หลักการทำดีอย่างมีสุข ๖ ประการ ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องจิตใจก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ต้องทำดีก่อนแล้วค่อยวางดี อย่าวางดีโดยไม่ทำดี ศาสนาพุทธวางชั่ว ชั่วไม่ต้องทำ ทำแต่ดี ศาสนาพุทธต้องทำดี แต่ไม่ต้องไปติดดี เป็นการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสๆ ด้วยการไม่ต้องติดดีไม่ต้องติดชั่ว อย่าไปทุกข์กับมัน จะได้ผลเท่าไรก็แล้วแต่ ปล่อยวางเลย ทำจิตใจให้ผ่องใส เพราะสุดท้ายมันก็ดับไป
ชีวิตเราเดินทางไปสู่ความตายด้วยกันทุกคน ฉะนั้น เรามีหน้าที่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราพอจะทำได้ ให้มันอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ เพื่อให้โลกได้อาศัย ให้เราได้อาศัย ก่อนที่มันจะดับไป หรือก่อนที่เราจะดับไปเท่านั้น ปฏิบัติให้ถูกแล้วจิตใจจะเป็นสุขและหายโรคได้เร็ว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
การทำดีแล้วค่อยวางดี เราจะมีดีอาศัยแล้วใจจะไม่เป็นทุกข์ เรียกว่า ทำดีอย่ามีสุข แต่ถ้าวางดีโดยไม่ทำดี ด้วยการคิดว่าทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเรา ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ ก็เลยไม่ทำดีอะไร ไม่ต้องทำอะไรหรอก อยู่เฉยๆ มันจะเป็นยังไง คือวางดีโดยไม่ทำดี มันจะเป็นยังไง มันจะไม่สดชื่น หดหู่ ห่อเหี่ยว บื้อๆ ดีก็ไม่มีอาศัย จิตใจก็จะหดหู่ ห่อเหี่ยวไปเรื่อยๆ อันนั้นมันไม่ใช่ศาสนาพุทธ
แต่คนทำดี จิตใจจะสดชื่น มีบุญให้อาศัย ทำให้ดีที่สุด แล้ววางความยึดมั่นถือมั่นให้ถึงที่สุด ทุกข์ใจเกิดเมื่อใด ก็หมั่นพิจารณาซ้ำๆ การพิจารณาซ้ำๆ  มันจะทำลายทุกข์ใจได้ เมื่อทุกข์ใจถูกล้าง ความสุขใจจะเกิดขึ้น เมื่อความสุขใจเกิดขึ้น โรคจะลดลงทันที อันนี้คือ สิ่งที่ดีสุดที่ไม่ต้องซื้อหา เป็นยาที่ดีที่สุด ที่แรงที่สุดในโลก คือการทำดีแล้ววางดี ไม่ใช่วางดีโดยไมทำดี ทำดีแล้ววางดี จิตใจก็จะเป็นสุข นี้คือหลักการทำดีอย่างมีสุข จะทำให้แข็งแรงอายุยืนความเจ็บป่วยลดน้อยลง